ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ลงนาม MOU กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมการแพทย์ ระดับหัวกะทิ ป้อนหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เป็นขุมพลังใหม่ในการขับเคลื่อนงานวิจัย พัฒนานวัตกรรม และซ่อมบำรุงเครื่องมือทางการแพทย์ในสถานพยาบาล

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) และ ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทางวิชาการ ณ อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

โดยภายหลังพิธีลงนามฯ นพ.ณัฐวุฒิ ให้สัมภาษณ์ว่า ในแต่ละปีสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องมีการบำรุงรักษา หรือซ่อมแซมเครื่องมือทางการแพทย์นับแสนเครื่อง ทั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ เครื่องตรวจคลื่นหัวใจไฟฟ้า เครื่องกระตุ้นหัวใจ เครื่องตรวจวัดความดันโลหิต ฯลฯ จะต้องแสดงผลอย่างเที่ยงตรง แม่นยำ เพื่อให้แพทย์ตรวจวิเคราะห์รักษาโรคได้อย่างถูกต้อง แต่ด้วยจำนวนบุคลากรในด้านเครื่องมือแพทย์/วิศวกรรมการแพทย์ของประเทศไทยที่มีจำกัด ทำให้การพัฒนานวัตกรรม หรือการดูแล รักษา ซ่อมบำรุงเครื่องมือแพทย์ในสถานพยาบาลเกิดความล่าช้า หรือไม่ทั่วถึง

ดังนั้น กรม สบส.ในฐานะหน่วยงานหลักในการคุ้มครองผู้บริโภคในระบบบริการสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดระบบ ด้านการบำรุงรักษา ด้านการสอบเทียบ และการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรมการแพทย์ จึงร่วมกับ มจพ.ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง 2 หน่วยงานขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมการแพทย์ ระดับหัวกะทิ ป้อนหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน

นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมการแพทย์นั้น มจพ.จะให้โควตากับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) สาขาอิเล็กทรอนิกส์การแพทย์ ที่ผลิตภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรม สบส.และคณะกรรมการอาชีวศึกษา จากวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมการแพทย์ โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์ของ มจพ.จะได้รับทุนการศึกษา และโอกาสในการเข้าปฏิบัติงานจริงกับบริษัทชั้นนำด้านเครื่องมือ/วิศวกรรมการแพทย์ของประเทศในระหว่างที่ศึกษาอยู่ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ให้สมกับเป็นบุคลากรระดับหัวกะทิที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรม เครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ไทย

นอกจากนี้ กรม สบส.ยังได้ตั้งเป้าที่จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง สาขาอิเล็กทรอนิกส์การแพทย์ เพิ่มในวิทยาลัยเทคนิคอื่นๆ ในทุกภาคทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ที่มีความสนใจในด้านเครื่องมือแพทย์/วิศวกรรมการแพทย์ได้เข้าศึกษาอีกด้วย