ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฯ แจง หลังพยาบาลวิชาชีพร้องนายกฯ อ้างถูกกีดกันตำแหน่ง ผอ.รพ.สต.ยืนยันหลายวิชาชีพมาเป็นได้ แต่ต้องเปลี่ยนตำแหน่งเป็นนักวิชาการสาธารณสุข ตามระเบียบ ก.พ. และหากจะใช้ชื่อตำแหน่งเดิมก็ต้องดำเนินการแก้หลักเกณฑ์ของ ก.พ.ก่อน ชี้เป็นเพราะคำสั่ง สธ.ยังไม่สมบูรณ์ มีความลักลั่น เพราะยังไม่มีการปรับแก้ที่ ก.พ.

จากกรณีพยาบาลวิชาชีพสุรินทร์ร่อนหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรี เหตุถูกกีดกันขึ้นตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไม่ปฏิบัติตามประกาศของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่วางกรอบโครงสร้างอัตรากำลังไว้นั้น กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ระหว่างพยาบาลวิชาชีพบางกลุ่ม และกลุ่มนักวิชาการสาธารณสุข เนื่องจากเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า เป็นการเลือกปฏิบัติเฉพาะนักวิชาการสาธารณสุข หรือไม่

นายริซกี สาร๊ะ

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2562 นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่าประเด็นที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้กังวลว่า จะเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากมีกลุ่มพยาบาลกลุ่มหนึ่งไปร้องเรียนว่า เกิดความไม่เป็นธรรม และกีดกันพยาบาลขึ้นตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อีกทั้งยังเข้าใจกันว่า กลุ่มนักวิชาการสาธารณสุขไม่อยากให้พยาบาลขึ้นนั่งในตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการปรับกรอบโครงสร้างกำลังคน ซึ่งได้ระบุในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ว่า ผู้ที่จะมาสมัครและดำรงตำแหน่งต้องเป็นนักวิชาการสาธารณสุข และพยาบาลวิชาชีพก็ได้ ซึ่งประกาศในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2560 จริงๆแล้ว ผู้ที่จะมาเป็น ผอ.รพ.สต.นั้น หลายวิชาชีพมาเป็นได้ และสามารถมาสมัครสอบและดำรงตำแหน่งได้ แต่ต้องเปลี่ยนตำแหน่งเป็นนักวิชาการสาธารณสุข ตามระเบียบการบรรจุและแต่งตั้งของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แต่หากจะใช้ชื่อตำแหน่งเดิมก็ต้องดำเนินการแก้หลักเกณฑ์ของ ก.พ.เสีย ก่อน

“นั่นหมายความว่า คำสั่งกระทรวงยังไม่สมบูรณ์ มีความลักลั่น เพราะยังไม่มีการปรับแก้ที่ต้นเรื่องตามที่บางวิชาชีพต้องการ คือ สำนักงาน ก.พ.ก่อน เนื่องจาก ก.พ.ระบุเลขที่ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ) หรือผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน)ดังนั้น ขอย้ำว่า ทางชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฯ ไม่ได้มีอำนาจในการไปกำหนดตำแหน่ง รวมทั้งไปกีดกันวิชาชีพใครได้” นายริซกี กล่าว

เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันนักวิชาการสาธารณสุขในระบบกระทรวงฯ มีประมาณ 4 หมื่นกว่าคน แต่มีคนเปลี่ยนตำแหน่ง จากสายงานอื่นมาดำรงตำแหน่งหลายพันตำแหน่ง แสดงว่าสายงานนี้ เปิดกว้างให้ใครมาเป็นก็ได้

ซึ่งเดิมทีเมื่อตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ว่างลง บางแห่งก็มักจะให้พยาบาลวิชาชีพมานั่งในตำแหน่งรักษาการผอ.รพ.สต. โดยที่ไม่ยอมเปลี่ยนตำแหน่ง เพระจะทำให้ไม่ได้รับค่าตอบแทนวิชาชีพ เงินประจำตำแหน่ง เงิน พตส. และค่าอื่นๆอีกประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน เพราะตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ) ไม่มีค่าตอบแทนส่วนนี้ ดังนั้น หากอยากจะก้าวหน้า อยากเป็นผู้บริหาร จะมานั่งในตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไม่ได้ ก็ต้องยอมสละค่าตอบแทนในส่วนของพยาบาลไป จะได้มาบริหาร รพ.สต. เต็มตัวได้

นายริซกี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางชมรมฯ กำลังรวบรวมข้อเสนอเพื่อส่งถึงผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขให้แก้ปัญหาเรื่องนี้ อาทิ

1.ควรยกเลิกตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากในบางพื้นที่อาจมีนักวิชาการสาธารณสุขไม่เพียงพอ และไม่ยอมเปิดรับสมัครบุคลากรนอกพื้นที ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาควรยกเลิกรักษาการ และเมื่อว่างลงให้เปิดรับสมัคร เปิดสอบให้ทุกวิชาชีพที่มีคุณสมบัติ เปลี่ยนตำแหน่งมาใช้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ) อย่างเท่าเทียมกัน

2.สำนักงาน ก.พ.ควรนำชื่อ นักบริหารสาธารณสุข หรือชื่ออื่นมาใช้เหมือนในอดีต แทนตำแหน่งผู้บริหารระดับต่างๆ ที่ใช้ชื่อนักวิชาการสาธารณสุข และควรกำหนดตำแหน่งใหม่ให้นักวิชาการสาธารณสุขที่มีใบประกอบวิชาชีพแล้ว ในชื่อใหม่ เช่น “สาธารณสุขชุมชน” “สาธารณสุขวิชาชีพ” ฯลฯ เพื่อแก้ปัญหาการลักลั่นในการดำรงตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขในปัจจุบัน ที่ทุกวิชาชีพก็เปลี่ยนมาเป็นได้

3.ควรมีการตั้งค่าตอบแทนให้กับผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อเป็นแรงจูงใจ จะได้ไม่ขัดแย้งเรื่องเปลี่ยนตำแหน่ง

4.ขอให้ตำแหน่งบริหารทุกตำแหน่งในกระทรวงสาธารณสุข ควรเปิดกว้าง ไม่จำกัดวิชาชีพเหมือนผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้ทุกวิชาชีพสามารถมาสอบเป็นนักบริหารสาธารณสุขได้ เพื่อความเป็นธรรม

โดยทางชมรมฯ จะรวบรวมข้อเสนออื่นๆ อีกและเสนอต่อผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขในโอกาสต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พยาบาลสุรินทร์ ร้องนายกฯ เหตุถูกกีดกันขึ้น ผอ.รพ.สต. ชี้ สสจ.ไม่ทำตามประกาศ สป.สธ.