ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสจ.นครราชสีมา สปสช. เขต 9 นครราชสีมา โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา ลุยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุกในโรงงาน 16-20 ต.ค.นี้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 2,500 คน เล็งขยายโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเองไปยังโรงงาน องค์กร ชุมชน หรือแม้แต่หน่วยงานรัฐ แนะหากสนใจประสานงานมาได้เลย โรงพยาบาลกรุงเทพพร้อมเข้าไปจัดบริการให้

วันที่ 17 ต.ค. 2566 พญ.สาวิตรี วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง (HPV Self Sampling) ซึ่ง สปสช. ได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา (สสจ.นครราชสีมา) โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา และบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นำร่องโครงการนี้ที่โรงงานแปรรูปนครราชสีมา โดยระบุว่าในพื้นที่ สปสช. เขต 9 มีกลุ่มเป้าหมายในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกประมาณ 1.8 แสนราย ตรวจไปแล้วประมาณ 8 หมื่นราย ยังเหลืออีกประมาณ 9 หมื่นรายที่ยังไม่ได้ตรวจ ซึ่งการตรวจคัดกรองเชิงรุกที่โรงงานแห่งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 16-20 ตุลาคม 2566 ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 2,500 คน 

พญ.สาวิตรี กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกยังไม่เป็นไปตามเป้า นอกจากอุปสรรคในเรื่องความครอบคลุมของหน่วยบริการแล้ว ยังอยู่ที่ตัวผู้หญิงที่เป็นกลุ่มเป้าหมายด้วยที่อาจจะติดงาน ไม่มีเวลามารับการตรวจ ไม่พร้อม หรือรู้สึกเขินอายที่จะต้องรับการตรวจ ด้วยเหตุนี้จึงมีการหารือกับทั้ง สปสช. ส่วนกลาง สสจ.นครราชสีมา และโรงพยาบาลกรุงเทพ ในเข้ามาช่วยเติมเต็มการตรวจคัดกรองเชิงรุกในกลุ่ม Non-UC หรือประชาชนที่ไม่ได้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) เช่น ผู้ประกันตน เป็นต้น โดยใช้วิธีการเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง หรือ Self-Sampling ซึ่งเริ่มแรกจะนำร่องที่โรงงานของบริษัท ซีพีเอฟ ก่อน โดยมีมีกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 2,500 คน 

พญ.สาวิตรี กล่าวอีกว่า หากดำเนินการในพื้นที่นำร่องสำเร็จ สามารถจัดการปัญหาอุปสรรคต่างๆได้ราบรื่น ทาง สสจ.นครราชสีมา จะทำการทบทวนหลังปฏิบัติงาน (After Action Review) เสร็จแล้วจะขยายการดำเนินงานต่อ โดย สสจ. จะเป็นผู้ชี้จุดว่ามีโรงงานไหนอีกบ้างที่ยังตรวจคัดกรองไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มองแค่ว่าต้องเป็นแค่โรงงานเท่านั้น เป็นชุมชน องค์กรอื่นๆที่สนใจ หรือแม้แต่หน่วยงานรัฐ หากประสานงานเข้ามา ทางโรงพยาบาลกรุงเทพก็พร้อมเข้าไปจัดบริการให้เช่นกัน

พญ.สาวิตรี กล่าวต่อว่า ต้องขอบคุณบริษัท ซีพีเอฟฯ ที่เข้าใจและให้ความสำคัญต่อการดูแลบุคลากร ทั้งนี้ บริษัทอื่นๆที่มีความสนใจการจัดบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแก่บุคลากร สามารถติดต่อประสานงานมาที่สายด่วน สปสช. 1330 ได้ตลอดเวลา 

ทั้งนี้ มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในสตรีอายุระหว่าง 45-50 ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะพบเมื่ออยู่ในระยะลุกลาม ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง อีกทั้งส่งผลต่อการดำรงชีพและการประกอบอาชีพ ดังนั้นรัฐบาลจึงกำหนดนโยบายในเรื่องนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของ Quick Win 100 วัน ที่จะต้องดำเนินการแบบครบวงจร ตั้งแต่การให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก การตรวจคัดกรองเพื่อให้ค้นพบผู้ป่วยได้เร็วและได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นซึ่งจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ 80-90% ขณะที่การการเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้สตรีกลุ่มเป้าหมายรับการตรวจได้สะดวกในด้านเวลาในการเก็บสิ่งส่งตรวจและลดความเขินอายได้มากยิ่งขึ้น