ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้แทนสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขฯ ยื่นหนังสือถึง รมว.สธ. ติดตามความก้าวหน้าของสายงานและวิชาชีพ 6 ประเด็นหลัก คือ เรื่องการกำหนดตำแหน่ง“นักสาธารณสุข” เรื่องเงินเพิ่มพิเศษ พตส.นักสาธารณสุขให้ทันในปี 67 รวมทั้งเสนอให้ตั้งกองสาธารณสุขฯ เพื่อดูแลนักสาธารณสุขในสังกัด รวมทั้งรพ.สต. และตั้งกลุ่มงานสาธารณสุขฯ ให้ตรงกับภารกิจ ฯลฯ

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 เวลา 9.30 น.  สมาคมวิชาชีพสาธารณสุขและชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) โดย นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามความก้าวหน้าของสายงานและวิชาชีพ โดยได้มีการติดตามประเด็นความคืบหน้าต่างๆ ดังนี้  

ประเด็นที่ 1 การกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข ในสายงาน ภารกิจ โครงสร้าง และกรอบอัตรากำลังของกระทรวงสาธารณสุข

สืบเนื่องจากมติ สำนักงาน ก.พ. วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ที่มีมติให้กำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข เป็นวิชาชีพเฉพาะ และมีหนังสือที่อ้างถึง 1`การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรฐานกำหนดตำแหน่งประเภทวิชาการ ที่ กพ. มีมติกำหนดให้ นักสาธารณสุข อยู่ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งที่เพิ่มขึ้นใหม่  และหนังสือที่อ้างถึง 2  เรื่องกำหนดให้ นักสาธารณสุข ถูกจัดอยู่ในกลุ่มตำแหน่งประเภทวิชาการ ลำดับที่ 25 เพื่อประโยชน์ในการย้าย การโอน ข้าราชการพลเรือนสามัญ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

บัดนี้ นับตั้งแต่หนังสือที่อ้างถึง 1  และหนังสือที่อ้างถึง 2 ผ่านมาหลายเดือน ก็ยังไม่มีความคืบหน้าตามกรอบเวลา(Timeline) ในการระบุตำแหน่ง นักสาธารณสุข ในสายงานภารกิจโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังของกระทรวงสาธารณสุขแต่อย่างใด

กอปร หนังสือที่อ้างถึง 3 เรื่องมาตรฐานกำหนดตำแหน่งฯ ที่ท้องถิ่นกำหนดให้นักสาธารณสุข ถูกจัดอยู่ในรหัส 3617 แล้วนั้น ซึ่งหากท้องถิ่นสามารถระบุตำแหน่งนักสาธารณสุขในโครงสร้างอัตรากำลังของกระทรวงมหาดไทยได้เร็วกว่ากระทรวงสาธารณสุข ก็อาจเกิดข้อเปรียบเทียบในกระบวนการบริหารบุคคลที่เนิ่นช้า และอาจส่งผลกระทบอื่นๆตามมาหลายประการ

จึงขอเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะทำงานร่วม ระหว่าง กองบริหารทรัพยากรบุคคล สภาการสาธารณสุขชุมชน สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ชมรม สมาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เพื่อเร่งรัดหาข้อสรุปในการกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข ในสายงาน ภารกิจ โครงสร้างและกรอบอัตรากำลังของกระทรวงสาธารณสุขโดยเร่งด่วน เพื่อมิให้เป็นการลิดรอนสิทธิจากความเนิ่นช้า และเป็นการดูแลขวัญกำลังใจของนักสาธารณสุขต่อไป

ประเด็นที่ 2  ขอให้กระทรวงสาธารณสุขมีการประสานงานและติดตามความคืบหน้าประเด็นเงินประจำตำแหน่งจากสำนักงาน ก.พ.เพื่อให้มีการออกประกาศ กฎ กพ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนได้รับเงินประจำตำแหน่ง 2551 ให้ระบุสายงาน นักสาธารณสุข เป็นสายงานที่ได้รับเงินเงินประจำตำแหน่ง ให้ทันในปี 2567 ด้วย

ประเด็นที่ 3 ขอให้กระทรวงสาธารณสุขติดตามความคืบหน้าประเด็น พ.ต.ส จากกองเศรษฐกิจสุขภาพสืบเนื่องจากปี 2565 ที่มีการประชุมพิจารณาให้สายงานนักสาธารณสุข/ นักวิชาการสาธารณสุขที่มีใบประกอบวิชาชีพ เป็นหนึ่งใน 8 สายงานที่ควรได้รับเงินเพิ่มพิเศษ พ.ต.ส ให้ทันในปี 2567 ด้วย

ประเด็นที่ 4 ขอให้ตั้งกลุ่มงานสาธารณสุขชุมชนในโรงพยาบาลชุมชนที่มีนักสาธารณสุขเป็นหัวหน้ากลุ่มงานโดยมีฝ่ายงานที่ตรงตามบทบาทภารกิจและมาตรฐานวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน คือ งานระบาดวิทยาและภัยสุขภาพ งานอาชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม งานสุขศึกษา งานโรคไม่ติดต่อ  งานยาเสพติดและสุขภาพจิตชุมชน งานกฏหมายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม งานสุขภาพภาคประชาชน และงานวิจัยสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ประเด็นที่ 5 ขอติดตามความคืบหน้าร่างกฎหมายบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลของกระทรวงสาธารณสุข(ก.สธ) ออกจากสำนักงานข้าราชการพลเรือน(ก.พ) ที่เป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการบุคลากรทุกสายงานทุกวิชาชีพ 

ประเด็นที่  6 ขอเสนอให้ตั้งกองสาธารณสุขชุมชนหรือชื่ออื่นในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่สามารถดูแลนักสาธารณสุขในหน่วยงานทุกระดับในสังกัด รวมทั้งรพ.สต.ประมาณ 6000 แห่งในสังกัดต่อไป

จึงใคร่ขอให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งรัด ติดตาม ประสานงานกองบริหารทรัพยากรบุคคล กองเศรษฐกิจสุขภาพสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้พิจารณาดำเนินการพร้อมทั้งแจ้งผลให้ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) ทราบต่อไป

เมื่อถามถึงเรื่องผลกระทบถ่ายโอน รพ.สต. นายริซกี กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้มีเรื่องของคนที่อยากไปแต่ไม่ได้ไป และคนที่ไปแล้วอยากถ่ายโอนกลับแต่ไม่ได้กลับ ซึ่งทั้งสองส่วนเป็นเรื่องสำคัญทั้งคู่ เรื่องนี้จำเป็นต้องหาแนวทางและจุดกึ่งกลางร่วมกันทั้งฝ่ายท้องถิ่นและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบหลายๆอย่างขึ้น มองว่าจำเป็นต้องหาคนกลางเพื่อพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรม ว่าคนที่อยากไปจะต้องได้ไปแต่คนที่ไปแล้วหากมีปัญหารู้สึกไม่สบายใจอยากกลับมากระทรวงสาธารณสุขก็ต้องหาแนวทางช่วยเหลือบุคลากรเหล่านี้ด้วย

"เพราะบุคลากรเหล่านี้สุดท้ายก็ทำงานเพื่อประชาชนทั้งนั้น อยากให้พวกเขามีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจในการดำเนินชีวิตในหน้าที่การงานของตนเอง ถ้าเขารู้สึกว่าตรงไหนเกิดความก้าวหน้าและเกิดความสบายใจก็อยากให้อยู่ตรงนั้นต่อไป" นายริซกี กล่าวทิ้งท้าย.