ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข เข้ายื่นหนังสือถึง "หมอชลน่าน" กรณีการปรับสายงาน-ความก้าวหน้า "นักสาธารณสุข" หลังการตีความเข้าสู่ตำแหน่งแคบ ทำให้คนเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุขน้อย ขอผู้บริหารที่เกี่ยวข้องช่วยปลดล็อค จ่อพบสถาบันการศึกษาปรับเอกวิชาเรียนในอนาคต

วานนี้ 29 มีนาคม 2567  ดร.ริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) และกรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชน เข้ายื่นหนังสือถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ห้องรับรอง ชั้น 5 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมี ผศ.ดร.วิชัย ล้ำสุทธิ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นาวาอากาศตรี.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  เป็นผู้รับหนังสือและรับฟังข้อมูล  ประเด็นการตีความปริญญาหรือคุณวุฒิที่เทียบเคียงได้ในสาขาวิชาด้านสาธารณสุขศาสตร์ ซึ่งมีการตีความว่าต้องจบสาธารณสุขศาสตร์อย่างเดียว

โดยขอให้มีการตีความที่กว้างขึ้นตรงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง นักสาธารณสุขที่กพ.ประกาศ ซึ่งจะรวมคุณวุฒิ และสาขาวิชาต่างๆ ที่เทียบได้ในระดับเดียวกันกับสาขาสาธารณสุขศาสตร์ เช่น วท.บ(สุขศึกษา) วท.บ(สาธารณสุขศาสตร์) วท.บ(สาธารณสุขชุมชน) ฯลฯ ซึ่งสภาการสาธารณสุขชุมชน และ กพ.ให้การรับรอง จนสามารถสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข และมีใบประกอบวิชาชีพแล้ว ให้สามารถเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุขได้ เช่นเดียวกันกับวุฒิสาธารณสุขศาสตร์

ดร.ริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) และกรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชน ให้ข้อมูลกับ Hfocus ว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้เนื่องจาก อ.ก.พ.สธ. เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2567 มีมติเห็นชอบให้นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการและชำนาญการ สามารถปรับตำแหน่งเป็นนักสาธารณสุขได้ ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับพบว่ามีนักวิชาการสาธารณสุขที่เข้าสู่ตำแหน่ง จำนวน 2,200 คน ถือเป็นจำนวนที่น้อย และจากรายละเอียดยังมีการระบุว่าต้องเป็นวุฒิสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต และมีใบประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ซึ่งเป็นการตีความที่แคบ ในขณะที่สำนักงาน ก.พ. ระบุว่าเป็นวุฒิปริญญาตรี หรือเทียบได้ในระดับเดียวกันกับสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต และมีใบประกอบวิชาชีพ ดังนั้นถ้าหากตัดเอาแต่วุฒิสาธารณสุขศาสตร์และมีใบประกอบวิชาชีพ ทำให้จำนวนผู้ที่เข้าสู่ตำแหน่งมีน้อย

ดร.ริซกี กล่าวต่อว่า ยังมีเรื่องของสถาบันการศึกษาเมื่อในอดีตส่วนมากจะพบว่า เปิดเป็นวิทยาศาสตรบัณฑิต(วทบ.) เช่น วิทยาศาสตรบัณฑิต (สาธารณสุขชุมชน) ไม่ได้เป็นสาขาสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต ซึ่งการตีความแบบนี้อาจทำให้คนที่จบมาเป็นนักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ได้มีพัฒนาตัวเองจนมีใบประกอบแต่ไม่ได้เข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุข

“ดังนั้นวันนี้จึงเป็นการพูดคุยหารือ สำหรับ 2,200 คนให้เข้าสู่ตำแหน่ง แต่ว่าในรอบถัดไปอยากให้มีการอนุโลมหรือตีความโดยตรวจสอบกับ ก.พ. ก่อน เพราะวุฒิที่สภาการสาธารณสุขชุมชนรับรอง ก.พ.ก็ได้รับรองว่าเป็นสาขาด้านสาธารณสุขศาสตร์ และกลุ่มนี้ก็ทำงานในระบบมานานแล้ว จึงอยากให้อนุโลมหรือใช้วิธีปรับหาแนวทางเพื่อให้เข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุข” ดร.ริซกี กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตทางสภาฯ อาจจะมีการพูดคุยกับสถาบันการศึกษาเรื่องปรับสาขาวิชาจากวิทยาศาสตรบัณฑิต เป็นสาธารณสุขศาสตรบัณฑิตด้วยเช่นกัน  มากไปกว่านั้นสิ่งที่คาดหวังต่อไปคือให้คนรุ่นเก่าที่ยังไม่เกษียณได้ปรับเข้าสู่ตำแหน่งอย่างน้อยภายในปีนี้ และในขั้นต่อไปก็อยากให้กลุ่มเจ้าพนักงานสายงานทั่วไป มีใบประกอบวิชาชีพ ที่จะต้องมีการหาเลขตำแหน่งก่อนเข้าสู่สายงานวิชาการ ในตำแหน่งนักสาธารณสุข เป็นเรื่องถัดไปที่ สธ. พิจารณาเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุข เพราะคนกลุ่มนี้ทำงานกับกระทรวงสาธารณสุขมานาน รวมทั้งกลุ่มลูกจ้าง ก็อยากจะให้มีการพิจารณาด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ขอขอบพระคุณผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องที่จะช่วยเร่งรัดติดตาม และปลดล็อค การตีความ ให้คนทำงานทึ่มีใบประกอบวิชาชีพเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุขได้ตามขั้นตอนต่อไป