ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลบำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติดในปีนี้ก้าวหน้ามาก ผลงาน 8 เดือนบำบัดไปแล้วกว่า 3 แสนราย มั่นใจอีก 4 เดือน จะได้ครบเป้าหมาย 400,000 รายชี้ผลกระทบการใช้สารเสพติดก่อให้เกิดโรคทางจิตเวชเพิ่มขึ้นปี 54 พบ 3,564 รายและ 6 เดือนปีนี้พบ 1,738 ราย

นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมค่ายพลังแผ่นดินบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ที่ค่ายสุรนารี อ.เมืองจังหวัดนครราชสีมา ว่า ในปี 2555 กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดจำนวน 400,000 รายทั่วประเทศ โดยมาจากระบบสมัครใจไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ที่เหลืออีกร้อยละ 30 เป็นระบบบังคับบำบัด และระบบต้องโทษตามกฎหมาย ผลการดำเนินงานในรอบ 8 เดือน คืบหน้าไปแล้วเกือบร้อยละ 80 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554-12 มิถุนายน 2555 มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์ฟื้นฟู 1 อำเภอ 1 ศูนย์ รวมกว่า 2,000 แห่ง จำนวน 305,904 ราย โดยเป็นผู้สมัครใจ 193,275 ราย คิดเป็นร้อยละ 63 ที่เหลืออีก 112,629 ราย เป็นระบบบังคับบำบัดและต้องโทษ ผู้เข้ารับการบำบัดร้อยละ 80 เสพยาบ้า รองลงมาคือ ยาไอซ์ กัญชา กระท่อม และสารระเหย ตามลำดับ มั่นใจว่าจะสำเร็จตามเป้าหมายภายใน 4 เดือนนี้

นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวว่า ปัญหาที่น่าห่วงและเกิดตามมาจากการใช้สารเสพติดเป็นเวลานานพบว่าทำให้เกิดโรคทางจิตเวชมากขึ้นเนื่องจากระบบสมองถูกทำลาย จากการรวบรวมสถิติผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต เช่นประสาทหลอน หวาดระแวง เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวช 13 แห่งทั่วประเทศในปี 2554 พบเกิดจากการใช้สารเสพติดจำนวน 3,564 ราย และในรอบ 6 เดือนของปีนี้ พบ 1,738 ราย จึงเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งตัดไฟแต่ต้นลมโดยบำบัดฟื้นฟูผู้ที่ใช้สารเสพติดทั้งหมดทั้งที่ติดและยังไม่ติดให้เลิกเสพอย่างเด็ดขาดไม่หันไปเสพยาซ้ำอีก

สำหรับการบำบัดในศูนย์ฟื้นฟู 1 อำเภอ 1 ศูนย์ จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 9 วัน โดยให้เข้าค่ายทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน อาทิ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การทำสันทนาการ ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ดนตรี การฝึกอาชีพ ครอบครัวบำบัด พบว่าได้ผลดี เด็กจะมีความอบอุ่น มีความมั่นใจ ได้รับกำลังจากชุมชน ครอบครัว ผู้อบรมด้วย การอบรมในลักษณะนี้ เชื่อมั่นว่าจะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล ที่ยึดหลักผู้เสพคือผู้ป่วย จะต้องได้รับการบำบัดรักษา ให้กลับมาเป็นคนดี ได้เป็นผลสำเร็จ ผู้ผ่านการบำบัดแล้ว สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข และเชื่อว่าการที่จะกลับไปเสพยาเสพติดซ้ำ น่าจะพบน้อยที่สุดในกลุ่มนี้ จากการตรวจเยี่ยมค่ายพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดที่จังหวัดนครราชสีมา พบผู้เข้ารับการบำบัดมีหลากหลาย ส่วนใหญ่เสพยาตั้งแต่ 1-5 ปี บางคนเสพมากกว่า 10 ปี และเป็นผู้ที่เคยถูกจำคุกมาก่อนก็มี

นอกจากนี้ ในการป้องกันไม่ให้เยาวชนไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ฝ่ายปกครองตำรวจ และมวลชน เข้าไปให้ความรู้กับลูกหลาน เยาวชนให้ห่างไกลยาเสพติด และอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขหรือ อสม.ให้เป็น อสม.เชี่ยวชาญด้านป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในหมู่บ้าน อย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 คน แต่ที่ จ.นครราชสีมา อบรมได้หมู่บ้านละ 2 คน ก็จะเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านชุมชน เชื่อมั่นว่าจะสามารถลดผู้เสพยาทั้งกลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้ใช้แรงงานและกลุ่มอื่นๆ ได้อีกทางหนึ่ง นายแพทย์สุรวิทย์กล่าว