ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เตรียมเสนอ ครม. อนุมัติ สธ.ขาย "บัตรประกันสุขภาพกลุ่มแรงงานนอกระบบ"   รุกแก้ปัญหาสุขภาพลดภาระ รพ.แบกรับค่ารักษา ด้าน "ผอ.สำนักงานนโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ" ชี้ค่าแรง 300 บาท ส่งผลแรงงานต่างด้าวผิด ก.ม.ทะลักแน่ เพราะนายจ้างต้องการแรงงานราคาถูก

การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เพิ่มขึ้น ทำให้รัฐต้องแบกภาระค่ารักษาพยาบาลนั้น นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ก่อนอื่นต้องมองอย่างเข้าใจก่อน ซึ่งแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ไม่ใช่กลุ่มที่เข้ามาสร้างปัญหาให้กับประเทศไทย แต่เป็นกลุ่มที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการที่เราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เด็กแรกคลอดลดลง ส่งผลให้จำนวนแรงงานในประเทศไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานจำพวกไร้ฝีมือ งานสกปรก และงานที่เสี่ยงอันตราย  แรงงานต่างด้าวเหล่านี้จึงเข้ามาช่วยทดแทนส่วนที่ขาด ทั้งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาตามความต้องการของผู้ประกอบการ ไม่ได้เข้ามาเองอย่างที่เข้าใจ เพราะเมื่อดูอายุภาพรวมของกลุ่มแรงงานต่างด้าวพบว่า ส่วนใหญ่จะอยู่ที่อายุ 21- 26 ปี

ชี้มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเยอะ

นพ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ผ่านมามีความพยายามทำเพื่อให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบอย่างถูกกฎหมาย โดยให้มีการจัดทำใบ ทร. 38/1 พร้อมบังคับตรวจสุขภาพก่อน และเปิดให้ซื้อประกันสุขภาพแบบสมัครใจ 1,300 บาท ซึ่งต่อมาปรับเปลี่ยน มีการลงนามเซ็นสัญญาระหว่างประเทศเพื่อทำวีซ่าให้กับแรงงานที่เข้ามาทำงานในไทย โดยแรงงานเหล่านี้จะเข้าสู่ระบบรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมเมื่อเข้าสู่การทำงานในสถานประกอบการ แต่หากเป็นแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในภาคการเกษตร ทำงานตามบ้าน และงานก่อสร้างจะไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคมนี้        อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้คือ หากดูตัวเลขกรมการจัดหางานปี 2555 มีแรงงานต่างด้าวลงทะเบียนเกือบ 2 ล้านคน แต่ปีนี้มีแรงงานต่างด้าวที่มาขึ้นทะเบียนเพียงแค่ 1 ล้านคน เป็นไปได้ว่าแรงงานต่างด้าวที่หายไปไม่มาต่อทะเบียน ไม่กลับบ้านก็ต้องหลบลงใต้ดิน ซึ่งหากเป็นกรณีหลังจะส่งผลกระทบต่อนายจ้างก็น่าที่จะมีการออกมาสะท้อนปัญหาขาดแคลนแรงงาน แต่หากไม่นั่นหมายความว่าแรงงานเหล่านั้นยังคงหลบอยู่ในประเทศไทย  ปัญหาที่ต้องระวังคือผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะจากการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าว ปี 2547พบว่า ร้อยละ 1.25 มีปัญหาสุขภาพ โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 60-70 เป็นวัณโรค ที่เหลือเป็นโรคซิฟิลิส โรคเท้าช้าง และอื่นๆ และหากพบก็จะให้การรักษาโดยเร็ว

เสนอต่างด้าวทุกกลุ่มซื้อประกันสุขภาพ

นพ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อขยายให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถเข้าไปจัดการและดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่อยู่นอกระบบ ทั้งการจัดทำระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าวที่ไม่มาขึ้นทะเบียน เปิดให้สามารถซื้อประกันสุขภาพได้ การจัดระบบบริการสุขภาพที่ให้โรงพยาบาลเข้าไปดูแล และการจัดทำระบบการมีส่วนร่วมการส่งเสริมและป้องกันโรคในชุมชนแรงงานต่างด้าว

โดยดึงแรงงานต่างด้าวเหล่านี้เข้าร่วมเป็นพนักงานสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว ทำหน้าที่เหมือนกับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) โดยแผนยุทธศาสตร์นี้เตรียมที่จะนำเสนอขออนุมัติจาก ครม. คาดว่าในสัปดาห์หน้านี้ ไม่เพียงแต่เป็นการแก้ไขปัญหาสุขภาพแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการป้องกันความเสี่ยงต่อโรคที่อาจแพร่ถึงคนไทย

"เราจะให้ อสม.แรงงานต่างด้าวทำหน้าที่ หากพบว่าแรงงานต่างด้าวคนใดที่ยังไม่มีระบบประกันสุขภาพ ก็ให้ชักชวนซื้อบัตรประกันสุขภาพที่กระทรวงจัดทำขึ้น เงิน 1,300 บาท ถือว่าไม่มาก สามารถจ่ายได้เมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเป็น 300 บาท ทั้งยังเป็นการช่วยลดภาระค่ารักษาพยาบาลของแรงงานต่างด้าว"ต่างด้าวกว่าครึ่งไม่มีบัตรสุขภาพ

นพ.ภูษิต ประคองสาย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยประมาณ 4-5 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้มีเพียงแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีการขึ้นทะเบียนทำงานอย่างถูกกฎหมาย ได้รับการตรวจร่างกายและเข้าสู่ระบบประกันสังคม ถูกหักเงินค่าเบี้ยประกันสังคมในทุกเดือน ซึ่งจะมีสิทธิในการเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลกรณีที่เกิดภาวะการเจ็บป่วยขึ้น

"ยอมรับว่าปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายยังเป็นปัญหาใหญ่ในบ้านเรา ส่วนหนึ่งเป็นการติดตามแรงงานถูกกฎหมายเข้ามา โดยคนแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้มักถูกว่าจ้างด้วยค่าแรงที่ต่ำ ซ้ำไม่มีประกันสุขภาพ" นอกจากปัญหาการรักษาพยาบาลแล้ว แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการดูแลสุขภาพที่ดีหรือแม้แต่อนามัยแม่และเด็ก โดยพบว่าหญิงตั้งครรภ์กลุ่มนี้จะขาดการดูแลครรภ์ที่ดี รวมถึงเด็กที่คลอดมาที่มักไม่ได้รับวัคซีน จึงควรมีหลักประกันสุขภาพที่ดูแลคนเหล่านี้

"โรงงานขนาดใหญ่ที่มีคนงานกว่า 2,000 คน พบว่า จากการตรวจสอบพบว่า ในจำนวนนี้มีเพียงครึ่งหนึ่งที่ขึ้นทะเบียนแรงงานอย่างถูกกฎหมายและมีระบบสุขภาพรองรับ แต่อีกครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานที่อยู่นอกระบบ ใน กทม.เอง ซึ่งเป็นพื้นที่มีแรงงานต่างด้าวทำงานมากที่สุด กระจายทำงานตามบ้าน ร้านอาหาร และปั๊มน้ำมัน คาดว่ามีประมาณกว่า 500,000 คน เชื่อว่าแรงงานต่างด้าวเหล่านี้น่าจะเป็นกลุ่มที่อยู่นอกระบบ" รพ.แบกรับค่ารักษาพยาบาล

นพ.ภูษิต กล่าวว่า จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข มีโรงพยาบาลหลายแห่งในสังกัดที่ต้องแบกรับภาระรักษาพยาบาลแรงงานต่างด้าวนอกระบบเหล่านี้ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมและเมืองท่องเที่ยว อย่างที่ จ.สมุทรสาคร ต้องแบกรับค่ารักษาถึงปีละ 30 ล้านบาท

ขณะที่โรงพยาบาลชลบุรีก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ส่วนโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตพบว่าอาคารพักหลังคลอด ซึ่งมีเตียงพักฟื้น 30-40 เตียง พบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่มาคลอดเป็นแรงงานพม่าทั้งหมด ทั้งยังมีการว่าจ้างล่ามพม่า 1 คนเพื่อแปลภาษาสื่อสารกับผู้ป่วยโดยเฉพาะ" ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าว เชื่อ300บาททำให้ต่างด้าวเพิ่ม

นพ.ภูษิต กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลเดินหน้านโยบายค่าแรง 300 บาท เชื่อว่าจะมีแรงงานต่างด้าวนอกระบบ ที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากนายจ้างส่วนหนึ่งยังต้องการแรงงานราคาถูก และไม่ต้องการจ่ายค่าแรง 300 บาทตามนโยบายรัฐบาล อีกทั้งแรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะไม่กล้าไปไหน เพราะกลัวถูกจับ ทำให้สามารถทำงานให้กับนายจ้างอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

รพ.ชลบุรีแบกต้นทุนรักษาต่างด้าว

อย่างไรก็ตามจากการสอบถามข้อมูลปัญหาภาระค่ารักษาพยาบาลแรงงานต่างด้าวนอกระบบยังโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมและประมง  พบว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ขณะนี้ ต่างประสบปัญหาภาระค่ารักษาพยาบาลแรงงานนอกระบบที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ข้อมูลโรงพยาบาลชลบุรีระบุว่า ในปี 2554 ค่าใช้จ่ายในการรักษาแรงงานต่างด้าวนอกระบบอยู่ที่ 7 ล้านบาท

และในปี 2555 ขยับขึ้นไปถึง 17 ล้านบาท เช่นเดียวกับที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ที่มีภาระค่ารักษาอยู่ที่ 30 ล้านบาทต่อปี ขณะที่โรงพยาบาลระยองที่มีภาระค่ารักษาในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน รวมถึงจังหวัดอื่นๆ โดยแรงงานต่างด้าวนอกระบบที่เข้ารักษาพยาบาลมีทั้งจากประเทศกัมพูชา พม่า และลาว เข้ารักษา

พบแรงงานเถื่อนเข้ารักษามากกว่า

ทั้งนี้จากการสอบถามผู้บริหารโรงพยาบาลส่วนใหญ่ยอมรับว่า ในจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล พบว่าสัดส่วนของแรงงานต่างด้าวนอกระบบมีมากกว่าแรงงานต่างด้าวในระบบ ขณะที่การขึ้นทะเบียนของแรงงานต่างด้าวมีแนวโน้มลดลงทุกปี ซึ่งในส่วนของจังหวัดระยองก่อนหน้านี้มีแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนถึง 50,000 คนต่อปี แต่ขณะนี้เหลือเพียง 15,000 คนเท่านั้น ส่วนที่เหลือเชื่อว่ายังคงหลบซ่อนและทำงานอยู่ในพื้นที่

สำหรับปัญหางบประมาณในการดูแลผู้ป่วยแรงงานต่างด้าวนอกระบบเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นการบริหารจัดการของโรงพยาบาลเอง โดยเป็นการเจียดเงินมาจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม และจากระบบสวัสดิการข้าราชการ รวมไปถึงจากเงินบำรุงโรงพยาบาล

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 21 มกราคม 2556