ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"ประดิษฐ" เตรียมเสอนครม.อนุมัติงบกองทุนสุขภาพฯ กว่า 1.8 แสนล้าน รวมเงินเดือนกว่า 6 หมื่นล้าน ค่าตอบแทนพีฟอร์พีอีก 3 พันล้านเหลืองบเข้าสปสช. 1.2 แสนล้าน ย้ำไม่กระทบงบเหมาจ่ายรายหัว

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) พิจารณาเรื่องข้อเสนองบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าที่ประชุมพิจารณาแล้วโดยจะเสนอของบประมาณเพิ่มเติมในส่วนของเงินเดือนข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและค่าตอบแทนที่คิดตามภาระงาน หรือพีฟอร์พี (P4P: Pay for Performance) ซึ่งรวมกับเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปีงบประมาณ 2557 เป็นเงินทั้งสิ้น 189,719.55 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินเดือนของหน่วยบริการภาครัฐ 64,715.72 ล้านบาท ซึ่งรวมสัดส่วนที่เดิม สธ.เป็นผู้รับผิดชอบร้อยละ 40 และสปสช.อีกร้อยละ 60 เมื่อหักเงินเดือนก้อนนี้ก็จะเหลือเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ จำนวน 125,003.83 ล้านบาท นอกจากนี้ จะเพิ่มงบในส่วนค่าตอบแทนพีฟอร์พี และในส่วนฉบับ 4, 6 และ 7 ที่เป็นเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนในพื้นที่ทุรกันดาร หรือพื้นที่เสี่ยงภัยอีก 3,000 ล้านบาท ซึ่งงบก้อนนี้จะให้สปสช.เสนอขอพ่วงกับงบกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ทุกๆ ปี

"ไม่ต้องกังวลว่า งบเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นให้สปสช.ดูแล 100% กับงบค่าตอบแทนจะไม่ส่งผลกระทบต่องบเหมาจ่ายรายหัว โดยงบเหมาจ่ายรายหัวที่จะเสนอในปี 2557 จะอยู่ที่ 2,956 บาทต่อคน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ได้รับ 2,756 บาทต่อคน โดยเพิ่มขึ้นตกหัวละ 200 บาท หรือร้อยละ 7.3 คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 26 มีนาคม" นพ.ประดิษฐ กล่าว

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ไม่ต้องกังวลในเรื่องผลกระทบต่องบเหมาจ่ายรายหัว เนื่องจากคนละส่วน และไม่มีทางที่จะให้งบเหมาจ่ายลดลง เพราะหากสปสช.ส่งเงินให้โรงพยาบาลน้อยลงก็จะเกิดปัญหาได้จะเสนอของบโดยไม่ต่ำกว่างบที่เคยได้ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในปี 2556 เสนอของบเหมาจ่ายรายหัวที่ 2,939.73 บาทต่อคนต่อปี โดยได้รับจริง 2,756 บาทต่อคน

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง กรรมการหลักประกันสุขภาพฯ กล่าวว่า การนำงบเงินเดือน และงบค่าตอบแทนมาให้สปสช. เป็นผู้เสนอร่วมกับงบกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ จะทำให้เห็นต้นทุนจริงของการใช่งบแต่ละกลุ่มก้อน ซึ่งในส่วนของเงินเดือนเดิมทีสปสช.จะดูแลในสัดส่วนร้อยละ 60 หรือ 34,763 ล้านบาท และสธ.จะดูแลในสัดส่วนร้อยละ 40 หรือเท่ากับ 29,186.98 ล้านบาทในส่วนของหน่วยบริการสังกัดสำนักปลัด สธ.และอีก 765.74 ล้านบาทในส่วนของหน่วยบริการสังกัดกรมในสธ. รวมทั้งหมดจะเป็นเงิน 64,715.72 ล้านบาท ซึ่งแยกกับงบค่าตอบแทน และงบเหมาจ่ายรายหัว จะมีการเสนอของบประมาณให้ได้ตัวเลขไม่ต่ำกว่างบก้อนนี้ในทุกๆ ปี เพื่อให้เป็นฐานในการเสนองบต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 26 มีนาคม 2556