ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

 “หมอประดิษฐ”ยัน “พีฟอร์พี” รั้งคนไว้ในระบบ การันตีรายได้หมอไม่ต่ำกว่าเดิม สธ.ออกแถลงการณ์แจงข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.)กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนถึงการจ่ายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน (พีฟอร์พี) ว่า เรื่องนี้ฝ่ายข้าราชการประจำคิดมา 2 ปีกว่าแล้ว มีการทดลองทำหลายที่ แต่บุคลากรบางคนอาจหวั่นไหวว่า ระบบและวิธีการทำงานเป็นอย่างไร ยุ่งยากหรือไม่ ได้เงินน้อยลงหรือไม่ ยืนยันว่ารายได้ไม่น้อยกว่าเดิมที่มาของเงินชัดเจน เท่าเทียมเป็นธรรมทุกฝ่าย ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่าอาจทำให้แพทย์เร่งตรวจทำแต้มเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงขึ้นนั้น นพ.ประดิษฐ เชื่อมั่นว่าแพทย์ที่มาอยู่ในภาครัฐจิตใจสูงส่งอยู่แล้ว โดยจรรยาบรรณไม่คิดว่าพีฟอร์พีจะกระตุ้นให้เกิดการทำงานแบบนั้น และไม่คิดว่าจะสมองไหล เพราะค่าตอบแทนเท่าเดิม และเพิ่มมากขึ้นในส่วนพีฟอร์พี จึงคิดว่าเป็นการรั้งให้อยู่ในระบบมากกว่าผลักดันให้ออกไป

นพ.ประดิษฐ กล่าวถึงกรณีแพทย์บางส่วนจะมีการชุมนุมเคลื่อนไหวในวันที่ 9 เม.ย.ว่า สธ.คงทำแถลงการณ์ออกมาอธิบายให้บุคลากรทุกฝ่ายโดยเฉพาะแพทย์เข้าใจ ที่ผ่านมาได้ชี้แจงเรื่องนี้หลายครั้งแต่กลุ่มที่ชุมนุมอาจเข้าใจผิดว่าค่าตอบแทนจะลดลง ซึ่งไม่เป็นความจริง ในพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่เฉพาะไม่กระทบเพราะมีการการันตีรายได้ และเมื่อดำเนินการแล้วต้องมีการตรวจสอบ ประเมินผล แก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์คือรั้งคนเอาไว้ในระบบ

 “แพทย์ในกลุ่มเขตเมืองรายได้อาจลดลง แต่พีฟอร์พีจะทำให้รายได้ไม่ต่ำกว่าเดิม หลักการเราชัดเจนว่ากลุ่มแพทย์ที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร หรือพื้นที่เฉพาะเช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่เกาะที่หาแพทย์ไปอยู่ยากยังได้ค่าตอบแทนเหมาจ่ายเหมือนเดิม และบวกด้วยพีฟอร์พี “รมว.สาธารณสุข กล่าว

ต่อข้อถามว่าพอมีข่าวเกิดขึ้นประชาชนอาจกังวลว่าจะได้รับผลกระทบ นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ประชาชนอาจสับสนมากกว่าว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ดีใจที่กลุ่มแพทย์เคลื่อนไหวยืนยันว่าจะทำหน้าที่เต็มที่ไม่ละทิ้งประชาชน แม้ไม่เห็นด้วยเชิงนโยบาย ขอชื่นชมที่ยึดมั่นในหลักการที่ดี มีจรรยาบรรณที่ดี ดังนั้นประชาชนไม่ต้องห่วงอะไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ข้อเท็จจริงนโยบายในการกำหนดค่าตอบแทนส่วนเพิ่มของบุคลากรสาธารณสุข ระบุว่า การให้ค่าตอบแทนส่วนเพิ่มกับบุคลากรทางการแพทย์เป็นกลไกสำคัญที่จะรักษาบุคลากรให้อยู่กับระบบสาธารณสุขของรัฐ แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายซึ่งจ่ายเป็นจำนวนคงที่และเป็นประจำทุกเดือน ส่วนที่ 2 คือ ค่าตอบแทนพีฟอร์พี ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ชนบทควรจะได้รับค่าตอบแทนส่วนเพิ่มไม่น้อยลงกว่าเดิม หากมีการประเมินแล้วลดลง จะจัดงบประมาณมาเพื่อชดเชยส่วนที่ควรได้รับโดยเร็ว เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ในทางปฏิบัติหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าตอบแทนส่วนเพิ่มสามารถปรับปรุงได้โดยใช้กลไกบริหารภายในกระทรวง ทั้งที่เป็นอัตรา กรอบพื้นที่ วิชาชีพ โดยปรับปรุงให้ตรงกับข้อเท็จจริง ข้อร้องเรียน และความเหมาะสม

ที่มา: http://www.dailynews.co.th