ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2556 คณะรัฐมนตรี มีมติให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตรวจสุขภาพ และจัดทำประกันสุขภาพ ให้แก่ ทั้งแรงงานข้ามชาติ และผู้ติดตามซึ่งเข้ามาอยู่ในเมืองไทย แต่ยังไม่ได้รับความดูแลจากระบบประกันสังคมไทย ให้ได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง

มติ ครม.ดังกล่าว ฟังดูดี แต่ในทางปฏิบัติ อาจทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากทุกวันนี้ประมาณการกันว่า เมืองไทยมีแรงงานข้ามชาติเข้าๆ-ออกๆ อยู่จำนวนไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านคน

ในจำนวนนี้มีแรงงานข้ามชาติ จากพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว และเข้าสู่ระบบประกันสังคมของไทยแล้ว รวมทั้งสิ้นแค่ 1 ล้านคน

เท่ากับว่า ยังมีแรงงานข้ามชาติ อีก 2 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับการดูแลจากระบบประกันสังคมไทย

คำว่า “การพิสูจน์สัญชาติ” เป็นมาตรการหรือกติกาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วโดยรัฐบาลไทยมีแนวคิดจะนำแรงงานข้ามชาติ ที่มีอยู่ทั้งหมดเข้าสู่ระบบ เพื่อเปลี่ยนให้ทุกคน กลายเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย

โดยให้สิทธิแก่แรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีเอกสาร ทร.38/1 (ผู้ที่มีเอกสารนี้ คือ แรงงาน ที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยชั่วคราว มีนายจ้างนำไปขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงแรงงาน ต่ออายุได้ปีต่อปี) ไปทำหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต กับตัวแทนของรัฐบาลประเทศที่ตนสังกัด เช่น ตัวแทนรัฐบาลพม่า ลาว กัมพูชา

เมื่อแรงงานเหล่านั้น ได้รับพาสปอร์ต ซึ่งถือว่า ได้มีการพิสูจน์สัญชาติกับรัฐบาลของตัวเองแล้ว ประเทศไทยจึงจะออกใบอนุญาตทำงาน หรือที่เรียกว่า “เวิร์ค เปอร์มิต” ซึ่งมีอายุคราวละ 2 ปี สามารถต่ออายุได้ 2 ครั้ง หรือเท่ากับ 4 ปีต่อเนื่องกัน ให้แก่แรงงานข้ามชาติ ผู้ซึ่งได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว

กติกาถัดมา มีอยู่ว่า หากพ้นระยะทำงานในเมืองไทยต่อเนื่อง 4 ปีไปแล้ว แรงงานข้ามชาติคนดังกล่าว จะต้องกลับไปยังประเทศของตน เพื่อรอเว้นระยะไปก่อนเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน จึงสามารถกลับมาเริ่มเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และใบอนุญาตให้ทำงานในเมืองไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้ใหม่อีกครั้ง

การที่รัฐบาลไทยมีนโยบาย จะให้การดูแลสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งผู้ติดตาม ที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย อย่างทั่วถึง นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจหลายอย่าง

เขาบอกว่า พรมแดนที่ติดต่อกันระหว่างไทย-พม่า มีระยะทางยาวรวมทั้งสิ้น 2,401 กม. ไทย-ลาว 1,810 กม. (แม่น้ำ 1,108 กม.+ แผ่นดินอีก 702 กม.) และไทย-กัมพูชา 803 กม.

“ในความเป็นจริง ไม่มีกองกำลังใด สามารถที่จะป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายได้อย่างสมบูรณ์ อีกอย่างแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในไทย ตามเส้นทางซึ่งผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง พบว่ามีน้อยมาก แสดงว่า มีขบวนการลักลอบนำเข้ามาอย่างเป็นระบบ”

นอกจากนี้ ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติ ซึ่งได้พิสูจน์สัญชาติแล้ว เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่กลุ่มซึ่งได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยชั่วคราว ด้วยเอกสาร ทร. 38/1 มีแนวโน้มลดจำนวนลง

ปัจจุบันทั้งลาว และกัมพูชา มีความเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ทำให้สัดส่วนการพิสูจน์สัญชาติของแรงงานจากทั้งสองประเทศลดลง สวนทางกับสัดส่วนการพิสูจน์สัญชาติของแรงงานชาวพม่า ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

นพ.ชาญวิทย์ ชี้ว่า กรณีดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงการย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในประเทศไทย เมื่อประเทศต้นทาง อย่างเช่น ลาว และกัมพูชา มีการพัฒนาเศรษฐกิจดีขึ้น แรงงานจากสองประเทศนี้จึงเริ่มย้ายถิ่นน้อยลง แต่ความต้องการใช้แรงงานในไทยยังไม่ลด จึงทำให้สัดส่วนแรงงานข้ามชาติจากพม่า เพิ่มเข้ามาแทนที่

“สิ่งที่เราควรทำเวลานี้ ก็คือ ควรมองภาพให้เป็นบวก อย่ามองว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านั้น เข้ามาแย่งงานเรา หรือเข้ามาก่อปัญหาให้เรา การที่แรงงานต่างชาตินำเอาผู้ติดตาม เช่น พ่อแม่หรือลูกหลานของพวกเขาเข้ามาอยู่ด้วย ในแง่ความมั่นคง ถือว่าไม่ใช่ปัญหา เพราะถึงอย่างไรเราก็ต้องเปิดเสรีอย่างเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว อีกอย่างเวลานี้เรากำลังอยู่ในขั้นวิกฤติขาดแคลนแรงงานระดับล่าง”

“เมื่อใดที่เรามองว่าคนเหล่านี้เป็นปัญหา ตั้งหน้าแต่จะหาประโยชน์และจำกัดสิทธิพวกเขา มันก็เหมือนเรากำลังซ้ำเติมคนที่ตกทุกข์ แต่ถ้าเรามองว่าพวกเขาเข้ามาช่วยเหลือเราแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน เขาก็จะจดจำเราไว้แต่ในทางที่ดี ตอนเปิดเออีซี ย่อมทำให้เกิดมิตรภาพที่ดีตามมา”

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ครม.มีมติให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม ที่ไม่ได้อยู่ในความดูแลของประกันสังคม โดยจัดระบบให้ ผู้ใช้แรงงานเหล่านั้น มีส่วนร่วมจ่าย ภายใต้ความเห็นชอบร่วมกันของกระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน

โดยมีแนวทาง ให้แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม ซึ่งยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานและประกันสังคม สามารถ ซื้อบัตรประกันสุขภาพ เพื่อไว้ดูแลสุขภาพของตนได้ โดยบัตรประกันสุขภาพเด็ก มีค่าใช้จ่ายในวงเงินที่ต่ำมาก เช่น 365 บาทต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละแค่ 1 บาท

ส่วนบัตรประกันสุขภาพสำหรับผู้ใหญ่ อาจคิดในราคาเท่ากันกับแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีเอกสาร ทร.38/1 คือ จ่ายรายละ 1,300 บาท ต่อคนต่อปี บวกค่าตรวจสุขภาพอีกปีละ 600 บาท เป็นต้น

นพ.ชาญวิทย์ สรุปว่า การที่แรงงานข้ามชาติ ผู้ติดตาม มีสุขภาพดีย่อมส่งผลดีให้แก่ทั้งตัวพวกเขาเอง ต่อประเทศไทย และต่อระบบเศรษฐกิจไทย ดังนั้น การมีระบบดูแลสุขภาพรองรับคนทุกกลุ่ม จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ

พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย องค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งดูแลสุขภาพและป้องกันโรคติดต่อให้แก่ผู้ใช้แรงงานในเมืองไทย มานานกว่า 10 ปี ให้ความเห็นเป็นรายถัดมา

 “ทุกวันนี้ภาพลักษณ์เมืองไทยไม่ค่อยดีนักในสายตาชาวโลก โดนข้อหา หนักใช้แรงงานเด็ก ค้ามนุษย์ เช่น ให้เด็กต่างชาติทำงานแกะกุ้ง แกะปลา หรือทำงานในคาราโอเกะ บางรายถูกล่อลวงบังคับให้ค้าประเวณี เป็นต้น”

เขาบอกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาของไทยในสายตาชาวโลกมาเนิ่นนาน ยิ่งฝ่ายไทยไปสกัดกั้นโอกาสในการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพอีก ก็ยิ่งทำให้ภาพพจน์ของเรายิ่งตกต่ำ หรือแลดูแย่มากไปกว่านี้

 “ไม่มีใครหรอก ไม่ห่วงชีวิต...สุขภาพตัวเอง แต่ที่แรงงานข้ามชาติอีกราว 2 ล้านคน ยังไม่สามารถเดินเข้าสู่ระบบประกันสังคมของไทยได้เป็นเพราะติดปัญหาค่าใช้จ่ายในการทำพาสปอร์ต เพื่อพิสูจน์สัญชาติ”

ปี 2556 ถือว่าอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ก่อนที่จะมีการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 2 ปีที่จะถึง แน่นอนว่ารัฐบาลไทยย่อมอยากเห็นแรงงานข้ามชาติในไทยทั้งหมด เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

แต่ในสายตาของ พร้อมบุญ เขากลับเห็นว่า ในสภาพปัญหาที่เมืองไทยกำลังเผชิญ ตราบใดที่ยังไม่มีทางออกอื่นที่ดีกว่า บางทีการพบกันคนละครึ่งทาง อาจเป็นวิธีการที่เหมาะสม

 “ถ้าเราเอาแต่ยึดกฎหมายเป็นที่ตั้ง ระบบการลักลอบใช้แรงงานเถื่อนใต้ดินก็จะยิ่งแรงขึ้น แต่ถ้าใช้วิธีผ่อนผันให้แรงงานที่ยังไม่พร้อมจะไปพิสูจน์สัญชาติ สามารถใช้ ทร.38/1 ได้อยู่ แล้วค่อยๆทยอยต้อนให้เข้าระบบ มันก็เหมือนกับการที่รัฐบาลเลือกใช้วิธีปิดประตูแต่ยังเปิดหน้าต่างแง้มไว้ เท่าที่จำเป็น”

ที่ผ่านมา แม้ว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว ซึ่งยังไม่ได้ไปพิสูจน์สัญชาติไปแล้ว แต่ พร้อมบุญ เชื่อว่า ในทางปฏิบัติรัฐบาลไทย น่าจะมีการขยายระยะเวลาต่อไปอีก

 “สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ เป็นปัญหาที่โทษใครไม่ได้ การแก้ปัญหานอกจากต้องมองจากหลายมุม อย่างรอบคอบ ทั้งรัฐบาล นายจ้าง และแรงงานข้ามชาติ ยังต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง” พร้อมบุญ ทิ้งท้าย

ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 6 พฤษภาคม 2556