ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเผย'ผู้ป่วยฉุกเฉิน'ร้องถูก รพ.เรียกเก็บเงิน-ปฏิเสธการรักษา ขณะที่ สปสช.สำรองจ่ายแทน สปส.-กรมบัญชีกลางกว่า 200 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้คืน จี้'รมว.สธ.'เร่งเคลียร์

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1/2556 เรื่อง "การรักษาพยาบาลไม่ใช่ธุรกิจ เราต้องการระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว" ระบุว่า ขณะนี้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำลังถูกคุกคาม เนื่องจากนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถูกถามสิทธิ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งกำหนดโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนต้องให้บริการผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินทั้งในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำรองจ่ายและเรียกเก็บเงินจาก 2 กองทุนภายหลัง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2555 แต่จนถึงปัจจุบันพบว่านโยบายนี้มีปัญหามาก

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกัน กล่าวว่า ปัญหาที่พบมากคือ ผู้ป่วยที่มาด้วยภาวะฉุกเฉินแต่ถูกเรียกเก็บเงิน โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนไม่ยอมรับว่า ผู้ป่วยฉุกเฉิน อ้างว่าเพราะเงินค่าดีอาร์จี (DRG) หรือเงินที่ สปสช.ต้องสำรองจ่ายโดยคิดจากค่าระดับความรุนแรงของภาวะฉุกเฉินที่ระดับละ 10,500 บาท ไม่สอดคล้องกับต้นทุน ที่สำคัญหลังจากมีนโยบายนี้ สปสช.สำรองจ่ายไปแล้ว 240 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้รับเงินคืนจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลาง ขณะเดียวกันกลุ่มที่ยังได้ประโยชน์จากนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมากที่สุด คือ ข้าราชการเพราะเข้ารับบริการได้มากกว่าสิทธิอื่นถึง 14 เท่า

ด้าน น.ส.กชนุช แสงแถลง โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกัน กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลนำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยรถยนต์ พ.ศ.2535 เข้าเป็นหนึ่งในนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพราะผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินส่วนใหญ่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ กลายเป็นภาระของ สปสช.ในการสำรองจ่าย เพราะการจะใช้สิทธิ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยรถยนต์มีขั้นตอนยุ่งยาก ในเดือนกันยายนนี้กลุ่มคนรักหลักประกันจะขอเข้าพบ รมว.สธ.เพื่อทวงถามเรื่องนี้ หากยังไม่คืบหน้าจะเคลื่อนไหวเรียกร้องนายกรัฐมนตรีต่อไป

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช. กล่าวว่า สปสช.ได้ทำหนังสือทวงถามเรื่องค่าใช้จ่ายไปที่ สปส.และกรมบัญชีกลางทุกเดือน ล่าสุดได้รับคำตอบว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะได้รับเงินคืนในเร็วๆ นี้ โดยกรมบัญชีกลางค้างจ่าย 180 ล้านบาท สปส.ค้างจ่าย 22 ล้านบาท ส่วนการหาทางออกในเรื่องของปัญหาการเรียกเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ 1 ชุด โดยจะต้องเร่งศึกษาต้นทุนของโรงพยาบาลเอกชน เพราะขณะนี้มีปัญหาว่าที่ สปสช.จ่ายระดับละ 10,500 บาท ยังต่ำกว่าที่โรงพยาบาลเอกชนเสนอไว้ 15,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระยะเวลา 1 ปีนับจากมีนโยบายดังกล่าว พบว่ามีประชาชนเข้ารับบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่โรงพยาบาลเอกชนและมีการบันทึกแจ้งขอรับค่าใช้จ่ายตามระบบทั้งสิ้น 22,453 ราย (เฉลี่ยเดือนละ 1,871 ราย) จากโรงพยาบาลที่ส่งข้อมูลทั้งสิ้น 245 แห่ง จาก 353 แห่ง หรือร้อยละ 69.4 ของจำนวนโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด ซึ่งจ่ายเงินไปแล้วทั้งสิ้น 19,289 ราย 328,384,448 บาท

ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 28 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--