ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขแบบสายฟ้าแลบในการประชุมครม.เมื่อวันที่13 ส.ค. 2556 ที่ผ่านมานั้นสะท้อนปรากฏการณ์ที่น่าสนใจหลายประการแต่หากจะให้สรุปสั้นๆ ก็ชัดเจนว่า การโยกย้ายครั้งนี้เป็นผลจากศึก P4P เป็นการจัดทัพเพื่อเตรียมการทำศึกสงครามโดยแท้ เพราะคัดคนที่ภักดีและสั่งได้มาคุมกำลังในกรมกองสำคัญในเมืองหลวงที่นนทบุรีไว้ทั้งหมด

Facebook ชมรมแพทย์ชนบท ได้แสดงทัศนะต่อการโยกย้ายครั้งนี้ว่า "โยกย้ายสายฟ้าแลบ ประดิษฐขยับเก้าอี้ซี 10 เป็นเก้าอี้ดนตรีใครไปอยู่ไหนดูเอาเองครับ ที่ชัดๆ ก็เช่น รองปลัดนิทัศน์ รายยวา ที่ภาพลักษณ์ใกล้ชิดแพทย์ชนบท และหัวใจมีแต่ Primary Care ถูกลดชั้นมาเป็นผู้ตรวจ ส่วนหมอทรงยศ ผู้ตรวจที่ไม่จัดเงินเพิ่มให้โรงพยาบาลที่ไม่ทำ P4P ในเขต3 นั้น ได้รับการปูนบำเหน็จเลื่อนชั้นเป็นรองปลัดคู่ใจของปลัดณรงค์"

หมอสุพรรณ รองปลัด สธ. ที่สั่งแล้วทำได้ทุกอย่าง ก็ได้รับการส่งเสริมให้เป็นอธิบดีกรมการแพทย์ หรือคิดอีกนัยหนึ่งคือ หมดสภาพแล้วเลยต้องเอาไปอยู่ที่ไหนสักที่ให้เป็นการตอบแทน หมออำนวย กาจีนะ จากผู้ตรวจมาเป็นรองปลัด คงเพราะสุพรรณน่วมแล้ว เอามาเป็นม้าใช้แทนหมอสุพรรณ และหมออภิชัย มงคลที่เคยออกหนังสือห้ามลามาประชุมที่หน้าบ้านนายกฯ จนโดนด่าเสียสูญได้เลื่อนขั้นจากผู้ตรวจราชการ สธ. เป็น อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ งานนี้พรรคพวกและคนที่ยอมซูฮกได้ดิบได้ดีเป็นทิวแถว

การโยกย้ายผู้บริหารระดับ 10 ตามกฎหมายเป็นความรับผิดชอบของปลัดกระทรวงไม่มีใครรู้ว่ารัฐมนตรีประดิษฐ สินธวณรงค์ ลงมาแทรกแซงจัดโผเองแค่ไหน แต่ชัดเจนว่ามีทั้งคนที่รัฐมนตรีประดิษฐก็ขอมาและปลัดณรงค์ก็เลือกมาเอง เป็นการจัดทัพกระชับอำนาจที่ความเป็นจริงก็เข้าใจได้และไม่ใช่สิ่งที่แปลก ที่ใครๆ ก็ต้องการคนภักดีสั่งได้ดังใจมาทำงานให้

แน่นอนว่าการเลือกคนแบบเลือกข้างแล้วโดยไม่สนใจสมดุลการขึ้นสู่ตำแหน่งของผู้บริหารในกลุ่มต่างๆ จะทำให้ปลัดกระทรวงบีบตนเองให้แคบลง คนแวดล้อมแคบลง ความรับรู้ต่อเสียงและความคิดเห็นจากผู้ใต้บังคับบัญชาก็จะลดลง จนอาจจะเหลือแต่เสียงที่คนแวดล้อมอยากให้ปลัดได้ยิน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะความบิดเบือนของข่าวสารจะนำไปสู่การตัดสินที่ผิดพลาด

ปลัด สธ.ในฐานะแม่ทัพใหญ่ของกระทรวงวันนี้ สามารถสร้างกองทัพผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพให้เข้มแข็งได้สองทาง ทางหนึ่ง คือการเปิดกว้างอย่างสร้างสรรค์ ให้พื้นที่หัวเมืองทุกแห่งสามารถสร้างสรรค์งานได้ตามบริบทและศักยภาพ ซึ่งยั่งยืนโดยต้องการกระจายอำนาจและอำนวยการ

สอง คือ การกระชับอำนาจส่วนกลางสร้างระบบที่มีความเข้มแข็งในการสั่งการ ใช้การนำที่เด็ดขาดนำขบวนระดับปฏิบัติให้ไปพร้อมๆ กัน แน่นอนว่าเมื่อเปลี่ยนปลัดก็ต้องเริ่มต้นใหม่ หรือหากนำหลงทางก็ลงเหวโดยพร้อมเพรียง ซึ่งรัฐมนตรีประดิษฐและปลัดณรงค์นั้นเลือกทางที่สอง

ในทัศนะของแพทย์ชนบท เราต้องเอารัฐมนตรีและปลัดกระทรวงที่เป็นวาทยกรอำนวยการให้ทุกคนทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างสร้างสรรค์ เราไม่ต้องการรัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวงที่เป็นฮิตเลอร์เผด็จการ แพทย์ชนบทไม่ชอบการแจกเสื้อโหล เพราะเราได้รับนโยบายเสื้อโหลมาทั้งชีวิต และพบว่าใช้การได้ไม่ดี พอรัฐมนตรีหมดอำนาจเสื้อโหลตัวนั้นก็ถูกโยนทิ้งไปเพราะใส่ไม่ฟิต แต่จำใจต้องใส่ตอนที่รัฐมนตรีหรือปลัดท่านนั้นยังมีอำนาจ

เราอยากจะได้เสื้อสูทที่เราออกแบบเอง ตัดเอง ให้ขนาดฟิตและเหมาะสมกับโรงพยาบาลของเรา แม้รัฐมนตรีไปแล้ว แต่ก็ใส่ต่อไปได้ ทำต่อไปได้

การขับเคี่ยวสงคราม P4P ที่ผ่านมานั้นโดยผิวเผินคือการต่อสู้เชิงประเด็น คือ เอาหรือไม่เอา P4P เอาหรือไม่เอาเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายจะเอามาแทนกันได้หรือไม่อย่างไร แต่ความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ในระดับลึกจนทำให้แกนนำแพทย์ชนบทระดมกำลังอารยะขัดขืนได้อย่างพร้อมเพรียงและจริงจังอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์นั้น คือ การต่อสู้ระหว่างชุดความคิดหรือกระบวนทัศน์ที่แตกต่างระหว่างผู้มีอำนาจส่วนกลางกับขุนพลชายแดนจากโรงพยาบาลชุมชน

ชุดวิธีคิดของกระทรวงนั้นไม่ว่าใครเป็นปลัดกระทรวง ใครเป็นรัฐมนตรี ก็ไม่ต่างกันมากนักคือ มุ่งการรวมศูนย์สั่งการ กระชับอำนาจควบคุมกำกับแม้แต่วิธีการทำงาน แต่ชุดวิธีคิดของแพทย์ชนบทมุ่งเน้นในทิศทางที่ตรงกันข้ามตามประสาไกลปืนเที่ยงและพึ่งตนเองมาตลอดจึงต้องการกระจายอำนาจ การกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม เปิดพื้นที่อิสระให้ได้สร้างสรรค์งานตามบริบทพื้นที่ ให้กระทรวงกำกับติดตามผลลัพธ์ แต่เปิดกว้างให้พื้นที่เลือกวิธีการเอง

คำว่าเป็นธรรมนั้น ก็ไม่ใช่ว่าแบ่งเท่าๆ กันแต่หากใครที่มีความยากลำบากและยังมีระดับการพัฒนาที่ต่ำก็ต้องช่วยมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยเพื่อยกระดับให้ระบบบริการสุขภาพในที่นั้นๆให้ทัดเทียม แต่ที่ผ่านมาทรัพยากรและงบประมาณจากกระทรวงกว่าจะไหลผ่านมาถึงโรงพยาบาลชุมชนนั้น เหมือนไอติมที่ถูกเลียมาตามทาง กว่าจะมาถึงก็หมดไปกว่าครึ่งแท่ง

ชุดความคิดที่แตกต่างนี้มีการต่อสู้ทางวิธีคิดมาตลอด แต่ที่ผ่านมาการต่อสู้ทางความคิดมีพื้นที่สาธารณะในกระทรวงที่เปิดช่องให้มีการวิวาทะ มีเวทีให้สามารถพูดคุยกันได้ ทำให้มีการจัดการประนีประนอม มีสมดุลของชุดความคิดเมือง-ชนบท สร้าง-ซ่อม รวมศูนย์-กระจายอำนาจ

การเปิดให้มีพื้นที่ของความเห็นต่างนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง แพทย์ชนบทมีความเห็นต่างและมีการปะทะทางความคิดกับปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีมาทุกยุคสมัย แต่ความเห็นต่างนั้นส่วนใหญ่คลี่คลายได้โดยไม่แตกแยกกันถึงขนาดปรากฏการณ์ค้าน P4P ปลัดกระทรวง นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์บริหารความขัดแย้งตลอด 3 ปีในตำแหน่งด้วยการตั้งวงคุยเจรจา ในสมัยปลัด นพ.ไพจิตร์วราชิต บริหารความขัดแย้งด้วยการไม่ตัดสินใจในกรณีที่ยังมีความเห็นต่างที่ยังถกเถียงร้อนแรง

แต่ในสมัยปลัด นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์แม้จะบริหารความขัดแย้งในลักษณะเปิดการมีส่วนร่วม แต่เป็นเพียงการฟังที่มีธงมีคำตอบสำเร็จรูปที่ไม่ยอมปรับแก้แล้ว นอกจากฟังน้อยแล้ว ยังปิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนพูดคุยในฐานะพี่ๆ น้องๆ สร้างบรรยากาศแบ่งฝ่ายแบ่งขั้วใครเห็นพ้องเดินตามคือพวก ใครค้านให้เห็นต่างคือศัตรู เมื่อพื้นที่พูดคุยถูกปิดบรรยากาศแยกข้างแบ่งเขาแบ่งเราจึงรุนแรง ดังนั้นปรากฏการณ์อารยะขัดขืนที่ขุนพลชายแดนประกาศไม่ยอมรับนโยบายจากส่วนกลาง จึงระเบิดขึ้นเป็นศึก P4P อย่างที่เห็นกัน

การแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้เป็นการจัดทัพครั้งสำคัญของปลัดและรัฐมนตรี หากเป็นการจัดทัพเพื่อเตรียมดันนโยบายP4P โดยจะบังคับโรงพยาบาลชุมชนให้ทำตามให้จงได้ด้วยกลไกเชิงอำนาจ ก็คงเกิดศึกใหญ่อีกครั้งอย่างแน่นอน

ดังที่ Facebook ชมรมแพทย์ชนบทได้สะท้อนจุดยืนไว้ว่า "ส่วนเราแพทย์ชนบทและผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนทุกท่านก็รักษาฐานที่มั่นในชนบทต่อไปให้มั่นคง ใครมาใครไปเราไม่ว่า แต่หากมีนโยบายเพี้ยนๆ ออกมาเราก็ค้านสุดลิ่มทิ่มประตูครับ ศึกนี้ยังอีกยาวไกล"

ผู้เขียน : นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะกรรมการชมรมแพทย์ชนบท

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 30 สิงหาคม 2556