ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผยเล็งจับแรงงานต่างด้าวแฝงกว่า 1 ล้านคน 'ขึ้นทะเบียน- ทำประกันสุขภาพ'หวังลดภาระงบประมาณค่ารักษาพยาบาลฟรี 250 ล้านบาท ด้าน กสร.ช่วยอีกทางเตรียมประสานบริษัทก่อสร้างเปิดศูนย์ดูแลเด็กชั่วคราว

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง การแพทย์ไทยจะไปทางไหนในยุคประชาคมศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ว่า ปัจจุบันระบบสาธารณสุขของไทยต้องดูแลแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยปีละ 250 ล้านบาท โดยเป็นแบบรักษาฟรีเพื่อป้องกันการระบาดของโรค ดังนั้น จะต้องควบคุมไม่ให้ค่าใช้จ่ายพุ่งสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อประชากรไทย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวพร้อมผู้ติดตามที่อยู่แบบแอบแฝงมีประมาณ 3 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเพียง 1 ล้านคน ที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง

"ดังนั้น จะต้องหาทางรับรองสถานะกลุ่มคนแอบแฝงให้ขึ้นทะเบียนถูกต้องให้ได้ เพื่อที่จะได้ให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพ โดยผู้ใหญ่ 2,000 บาทเศษ เด็ก 365 บาท สำหรับการรับรองสถานะแรงงานกลุ่มนี้ สธ.จะต้องทำงานร่วมกับ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยจะจัดทำเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ พร้อมทั้งจะตั้งเป็นคณะกรรมการ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้มีการทำงานและแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง" นพ.ประดิษฐกล่าว และว่า นอกจากนี้ ได้หารือถึงการเก็บเงินนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจะร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย จัดทำระเบียบเก็บค่าธรรมเนียมคล้ายๆ ภาษีสนามบิน และนำเงินดังกล่าวมาดูแลด้านสุขภาพ หรือทำเป็นประกันสุขภาพ เบื้องต้นเก็บไม่เกิน 500 บาทต่อคน ถือเป็นการประกันความเสี่ยง และคัดกรองนักท่องเที่ยวชั้นดี

นพ.ประดิษฐกล่าวอีกว่า ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากการตรวจสอบพบว่า ยังมีปัญหาในเรื่องการกระจายตัวของสถานพยาบาล เบื้องต้นได้หารือกับผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อเตรียมขยายหน่วยบริการในพื้นที่ ที่ยังขาดแคลน โดยเฉพาะย่านชานเมือง

ด้านนายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ระบุว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯมีจุดก่อสร้างจำนวนมาก และมีแคมป์แรงงานต่างด้าวกว่า 500 จุด โดยมีเด็กต่างด้าวอาศัยอยู่กับครอบครัวรวมแล้ว กว่า 5 หมื่นคน แต่ได้รับการดูแลตามยถากรรมว่า กสร.จะประสานขอข้อมูลไปยังมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กว่าอยู่ในพื้นที่ใดบ้างของกรุงเทพฯ เพื่อขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมและจัดทำเป็นศูนย์ดูแลเด็กต่างด้าวชั่วคราว รวมทั้งจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็กต่างด้าวได้รับการดูแลที่เหมาะสม ทั้งด้านการศึกษาและสุขอนามัย

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 10 ตุลาคม 2556