ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยมีแนวโน้มการระบาดมากกว่าปีก่อนๆ เนื่องจาก ปีนี้มีฤดูหนาวที่ยาวนานกว่าทุกปี เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์หลักที่ระบาดของปีนี้มีความรุนแรง จึงทำให้ประชาชนมีโอกาสเจ็บป่วยได้มากขึ้นด้วย กรมควบคุมโรคจึงขอออกประกาศเตือนประชาชน ให้เพิ่มความระมัดระวังป้องกันโรค เพื่อ ความปลอดภัยต่อสุขภาพ และลดผลกระทบ จากการป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ย้ำเตือนประชาชนหากป่วยเป็นไข้ ไอเกิน 2 วัน ให้รีบพบแพทย์ก่อนอาการจะรุนแรง ย้ำผู้ที่กำลังป่วยให้หยุดพักงาน หมั่นล้างมือ สวมหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแพร่สู่คนอื่น ส่วนประชาชนทั่วไปให้ป้องกัน โดยล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ กินร้อน และใช้ช้อนกลางเมื่อกินอาหารร่วมวงกับคนอื่น

นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดี กรมควบคุมโรคกล่าวว่า กรมควบคุมโรค โดยสำนักระบาดวิทยา ได้เฝ้าระวังการเจ็บป่วยด้วยโรค ไข้หวัดใหญ่ คาดจำนวนผู้ป่วยจะมากกว่าปี 2556 เชื้อต้นเหตุคือสายพันธุ์เอช 1 เอ็น 1 หรือ 2009 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557-31 มีนาคม 2557 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 26,160 ราย เสียชีวิต 21 ราย กลุ่มอายุที่พบป่วยมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 7-9 ปี (12.26%) กลุ่มอายุ 10-14 ปี (11.58%) และกลุ่มอายุ 25-34 ปี (11.10%) จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ ลำปาง ระยอง เชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร และพิษณุโลก จากการตรวจวิเคราะห์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ณ วันที่ 29 มี.ค 57 พบว่า มีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A H1N1 มากถึง ร้อยละ 20.83 ป่วยด้วยการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์  B (ร้อยละ 75) และ เป็นเชื้อ สายพันธุ์ A H3N2 ร้อยละ 4.17 รวมทั้งในขณะนี้ยังไม่พบทั้งการกลายพันธุ์และการดื้อยาของเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั้ง 3 สายพันธุ์ที่ว่านี้

เมื่อเทียบกับ 3 ปีย้อนหลัง ทำให้คาดว่า ปีนี้จะมีการระบาดในระลอกแรกของปีต่อเนื่อง ไปอีก 1 - 2 เดือน แล้วจะลดลงในฤดูร้อน จากนั้นจะเริ่มระลอกใหญ่ประจำปีตามฤดูกาลอีกครั้งในช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตโดยรวมทั้งประเทศตลอดทั้งปีมากกว่าปีที่ผ่านมา

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว กรมควบคุมโรค มีความห่วงใยสุขภาพอนามัยของประชาชน ในการป้องกันการเจ็บป่วย จึงขอแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงโรคไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งวิธีการรักษา และการป้องกัน เพื่อช่วยให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถดูแลตนเองและสมาชิกในครอบครัวได้อย่างถูกต้อง ดังนี้ โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากโรคนี้สามารถติดต่อได้ง่าย ภายในครอบครัว ที่ทำงาน โรงเรียน โดยเชื้อที่อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย แพร่จากผู้ป่วยเมื่อไอ จาม และปนเปื้อนอยู่ที่ภาชนะ ของใช้ส่วนตัว หรือของใช้สาธารณะ เช่น ลูกบิดประตู ปุ่มกดลิฟท์ ราวบันได ราวรถโดยสาร และติดต่อเข้าสู่ร่างกายโดยมือ ที่เปื้อนเชื้อ เมื่อแคะจมูก ขยี้ตา เอานิ้วเข้าปาก เป็นต้น อาการมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขน ต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ โดยในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงได้มากกว่าผู้ใหญ่ ส่วนอาการคัดจมูก จาม เจ็บคอ พบเป็นบางครั้งในไข้หวัดใหญ่ แต่จะพบในไข้หวัดมากกว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง หายป่วยได้โดยไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5 - 7 วัน แต่บางราย ที่มีอาการปอดอักเสบ รุนแรง จะพบอาการหายใจเร็วเหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

การรักษา ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงสามารถรักษาหายได้ภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งโดยมากเป็นการรักษาตามอาการ แต่ในรายที่เป็นกลุ่มที่จะมีอาการรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ป่วยเรื้อรัง หญิงมีครรภ์ แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาจำเพาะอย่างเหมาะสมเป็นรายๆ ไป ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำๆ และยังรับประทานอาหารได้ อาจไปพบแพทย์ หรือขอรับยาและคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน และดูแลรักษากันเองที่บ้านได้ โดยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ในห้องที่อากาศถ่ายเทดี ดื่มน้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้มากๆ งดดื่มน้ำเย็น หากมีไข้ให้ใช้ ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หากไข้ไม่ลดให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน หากทานยา แล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ควรรีบพบแพทย์

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำการป้องกันโรและดูแลสุขภาพ ดังต่อไปนี้

ก. สำหรับประชาชนทั่วไปที่ยังไม่มี อาการป่วย ควรป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ ไข้หวัดใหญ่โดย 1. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจล ทำความสะอาดมือ ในกรณีที่มือไม่เปรอะเปื้อน 2. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด และการใช้สิ่งของ เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น ร่วมกับผู้อื่น 3. กินอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้ นม ไข่ กินอาหารปรุงสุกใหม่ๆ และใช้ช้อนกลาง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 4. ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น เช่น ที่ ที่มีคนมาอยู่รวมกันจำนวนมาก ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น 5. ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ มากกว่า 65 ปี เด็กเล็ก ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ และผู้มีโรคอ้วน ที่หากป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ อาจมีอาการรุนแรง ควรรับการฉีดวัคซีน ไข้หวัดใหญ่ จากสถานพยาบาลของรัฐ ตามที่กำหนดไว้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดการป่วยและความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็สามารถขอรับบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้จากสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ เช่นกัน โดยอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายตามที่สถานพยาบาลกำหนด

ข. สำหรับผู้ที่มีอาการป่วย ควรป้องกันไม่ให้ แพร่เชื้อสู่คนอื่น และดูแลสุขภาพโดย

          1.  ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ด้วยกระดาษ ทิชชู หลังจากนั้นต้องล้างมือทุกครั้ง

          2. ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา นอกจากเวลารับประทานอาหารและทำกิจธุระส่วนตัว

          3. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ เพราะมือมักจะมีเชื้อจากน้ำมูก เสมหะปนเปื้อนอยู่

          4. หยุดเรียน หยุดงาน เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดจนกว่าจะหายเป็นปกติ อย่างน้อย 7 วัน หลังเริ่มป่วย หรืออย่างน้อย 1 วันหลังไม่มีไข้

หากประชาชนเจ็บด้วยอาการไข้ ไอ อาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน หรือมีอาการมากขึ้น เช่น ไข้ไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจเร็วเหนื่อย อ่อนเพลีย รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระมากควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ โทร. 0-2590-3159 สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือ หาข้อมูลและคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://beid.ddc.moph.go.th

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 11 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--