ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคห่วงปัญหาการละเลยการผู้สูงอายุช่วงวันหยุดแนะดูแล ป้องกัน พลัดตก หกล้ม ฟกช้ำ หรือรุนแรงจนกระดูกหัก ส่งผลให้พิการและเสียชีวิต

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มวัยที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะผู้สูงอายุส่วนมากนอกจากจะมีความเสื่อมของร่างกายตามวัยแล้ว ยังอาจมีโรคเรื้อรังที่ต้องการดูแล เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ ปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัยที่พบเสมอ คือ การบาดเจ็บจากการหกล้ม หรือพลัดตกที่สูง

ข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 โดยสำนักโรคไม่ติดต่อกรมควบคุมโรค พบว่า การบาดเจ็บในผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการพลัดตกหกล้ม ทั้งนี้จากการสอบถามประวัติการพลัดตกหกล้มใน 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีความชุกร้อยละ 18.5 เป็นเพศหญิงสูงกว่าเพศชาย (ร้อยละ 21.9 และ 14.4 ตามลำดับ) โดยมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 55) หกล้มในตัวบ้านและในบริเวณรั้วบ้าน เช่น ห้องนอน ห้องครัว และห้องน้ำ เป็นต้น ในขณะที่เพศชายร้อยละ 60 หกล้มบริเวณนอกบ้าน ขณะเดินทาง และในสถานที่ทำงาน เช่น ถนนในซอยและถนนใหญ่ ข้ามสะพาน จักรยาน/มอเตอร์ไซค์ล้ม บนรถเมล์ ไร่ นา ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น สาเหตุของการหกล้มส่วนใหญ่มาจากพื้นลื่น สะดุดสิ่งกีดขวาง การเสียการทรงตัว พื้นต่างระดับ หน้ามืดวิงเวียน และสาเหตุจากสิ่งแวดล้อม เช่น ถูกกระแทก ตกบันได เป็นต้น และภายหลังการพลัดตกหกล้มแล้ว ประมาณครึ่งหนึ่งมีอาการฟกช้ำ รองลงมาคือ มีอาการปวดหลัง และรุนแรงจนกระดูกหัก รวมทั้งเกิดความพิการและเสียชีวิตตามมา

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า การป้องกันอุบัติเหตุและการดูแลสุขภาพอนามัยในผู้สูงอายุ ดังนี้ 1. พาผู้สูงอายุภายในบ้านเข้าร่วมกิจกรรมกับครอบครัว เพื่อนบ้าน เป็นประจำ รวมทั้งเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุในชุมชน 2. ให้ผู้สูงอายุบริโภคอาหารที่ย่อยง่าย สะอาด ไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน เค็มจัด และรับประทานผัก ผลไม้เป็นประจำ 3. ส่งเสริมให้ออกกำลังกาย โดยเน้นฝึกการทรงตัว และฝึกทักษะการเคลื่อนไหว เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ได้แก่ การเดิน โยคะ ไทเก๊ก รำมวยจีน รำไม้พอง เป็นต้น 4. ดูแลให้ผู้สูงอายุเปลี่ยนท่าช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะความดันตกในท่ายืน อาจมีอาการหน้ามืด วิงเวียน เป็นลม ขณะที่ลุกขึ้นนั่งหรือยืนทุกครั้ง และสังเกตอาการ ความบกพร่องของการทรงตัว 5. ดูแลการใช้ยา สังเกตอาการ และปรึกษาแพทย์ ได้แก่ ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต และยาขับปัสสาวะ หรือมีประวัติการใช้ยาเป็นประจำตั้งแต่ 4 ชนิดขึ้นไป และ 6. สังเกตและตรวจความผิดปกติของการมองเห็น เช่น มองเห็นไม่ชัดเจน ตาพร่ามัว ไม่สามารถแยกความลึก/ระยะ เป็นต้น

“ในโอกาสนี้ ขอย้ำเตือนว่า เทศกาลสงกรานต์นี้ช่วยกันดูแลสุขภาพอนามัยผู้สูงอายุ ไม่ให้อยู่ตามลำพัง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ พร้อมทั้งเอาใจใส่ดูแลสภาวะจิตใจของท่าน ประชาชนผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคไม่ติดต่อ 02-950-3967 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นพ.โสภณ กล่าว