ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ในระบบกลไกสุขภาพของไทยจะขับเคลื่อนไปได้ด้วยความยั่งยืนจะต้องประกอบไปด้วยตัวแทนจาก 4 ฝ่าย คือ สปสช.  สธ.  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน จะขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ หรือจะให้ฝ่ายสธ.มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวก็ไม่ได้"

จากคำกล่าวของ นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ที่ได้แสดงทัศนะคติในเรื่องของระบบประกันสุขภาพในประเทศไทยที่จะทำให้มีความยั่งยืนได้อย่างไร

นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ 

นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่า สปสช.จะต้องตีความและเข้าใจในจุดยืนกับเรื่องการสร้างหลักประกันสุขภาพ ซึ่งนับจากนี้ไปอาจจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 ปี ในการสร้างวิสัยทัศน์ ในการดูแลสุขภาพของคนทั้งประเทศ ซึ่งในที่นี้หมายรวมถึงแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วย ในเรื่องดังกล่าวนี้ สปสช.ยังไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน  เพราะ สปสช. อย่าลืมว่า บุคลากรทางการแพทย์ทุกจังหวัดเขาไม่ได้มีหน้าที่แค่ดูแลรักษาคนไทยเท่านั้น แรงงานต่างด้าวเป็นอีกหนึ่งบริบทที่สำคัญ ที่มีกระทบต่อระบบการรักษาพยาบาลในบ้านเรา

"การสร้างหลักประกันสุขภาพที่ดี ต้องมีความก้าวหน้า อยากให้มีการตั้งกองทุนที่ส่งเสริมการสร้างสุขภาพในด้านต่างๆที่เหมาะสมกับพื้นที่ เน้นให้กับคนทุกกลุ่ม ซึ่งในปัจจุบันใครจะทำเรื่องดังกล่าวจะต้องเขียนทำโครงการเพื่อของบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ที่บางครั้งอาจมีข้อจำกัดบางอย่างเกิดขึ้น จึงอยากให้สธ.หรือ สปสช.สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวขึ้นมา"

สำหรับความขัดแย้งระหว่างสธ. และสปสช. ที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆนั้น ตนมองว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการปิดโอกาสในการทำงานที่ทุกพื้นที่จะต้องมีการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด ซึ่งท้ายสุดแล้ว เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด เปิดโอกาสให้ทุกพื้นที่ได้แสดงศักยภาพของตนเอง เพื่อสร้างความเข้าแข็งให้กับระบบหลักประกันสุขภาพในภาพรวม นี่คือ หลักการกระจายอำนาจ มันหมดยุคไปแล้วที่ สธ.จะเป็นศูนย์รวมของอำนาจเหมือนในอดีต

ทั้งนี้ระบบกลไกสุขภาพจะขับเคลื่อนไปได้ไกล ไปได้ตลอดรอดฝั่ง จะต้องเหมือนเก้าอี้ที่แข็งแรงจะต้องมี 4 ขา ที่ประกอบได้ด้วย ขาที่1 สปสช.  ขาที่ 2 สธ. ขาที่ 3. องค์กรกครองส่วนท้องถิ่น และขาที่ 4 ภาคประชาชน ทั้ง 4 ขานี้จะขับเคลื่อนไปตามบทบาทของตนเอง

สุดท้ายนี้ นพ.สุวัฒน์ยังมองว่า ในปี 2558 อาจจะมีการปฏิรูประบบสุขภาพอีกครั้ง ที่ต้องมีการเปิดใจเอาข้อมูลต่างๆมาชี้แจงเพื่อการปฏิรูป ซึ่งตนเองก็หวังว่าการปฏิรูปจะมีคนของภาคประชาชนเข้ามาร่วมในการปฏิรูปด้วย และจะจับตาดูว่า จะมีการปฏิรูประบบสุขภาพได้จริงหรือไม่ ?