ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เขต 11 ชูผลงานเด่นการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล นำสมุนไพรเข้ามาทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างจริงจัง ช่วยประหยัดค่ายาได้กว่า 20 ล้าน โดยเฉพาะใน รพ.สต.ลดการใช้ยาปฏิชีวนะลงได้เกือบ 100% แนะบทเรียนแค่รณรงค์ RDU ไม่เพียงพอต้องหาทางออกทดแทนให้ผู้ปฏิบัติงานด้วย

นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์

นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตบริการสุขภาพที่ 11 เปิดเผยว่า ผลงานเด่นของเขต 11 ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา คือเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (RDU) โดยการนำสมุนไพรเข้ามาทดแทนยาปฏิชีวนะ ทำให้ภาพรวมสามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะลงได้กว่า 20 ล้านบาทและน่าจะเป็นเขตแรกที่พิสูจน์ให้เห็นเรื่องสมุนไพรว่าเอามาทดแทนยาแผนปัจจุบันได้อย่างไรบ้าง

นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า แต่เดิม เขต 11 มีการใช้ยาไม่สมเหตุผลเยอะ มีค่าใช้จ่ายการในใช้ยาปฏิชีวนะโดยเฉพาะในระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สูงมาก ส่วนในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปจะเป็นเรื่องการใช้ยารักษาโรค NCDs ที่ยังไม่สมเหตุสมผล ขณะที่โรงพยาบาลชุมชนมีการหมุนเวียนของแพทย์บ่อย ทุกครั้งที่มีแพทย์จบใหม่มาอยู่ก็เริ่มมีการใช้แล็บใช้ยามากผิดปกติ

ด้วยเหตุนี้ในปีงบประมาณ 2560 ทางเขต 11 จึงใช้หลายมาตรการในการรณรงค์ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ประกอบด้วย 1. การดำเนินการตาม KPI 18 ข้อที่กระทรวงกำหนด แต่ที่ต่างออกไปคือนำสมุนไพรเข้ามาใช้ใน 2 ลักษณะคือ 1.1 การใช้นโยบาย First line drugs ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ใช้ 2 ตัว คือใครมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อให้ใช้ขมิ้นชันก่อน หรือถ้าเป็นหวัดเจ็บคอก็ให้ใช้ฟ้าทะลายโจรก่อน ถ้าไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมงถึงไปพบแพทย์

“แต่เขตเรามีประสบการณ์เรื่อง Diarrhea มาก เราก็ใช้ยาตำรับยาไทยคือยาเหลืองปิดสมุทรในโรคเกี่ยวกับท้องเสียทั้งหมด ซึ่งคนไข้โรคพวกนี้ส่วนใหญ่จะไป รพ.สต. พอเราประกาศใช้นโยบายนี้อย่างเข้มข้น ก็ทำให้ลดการใช้ยาปฏิชีวนะใน URI กับ Diarrhea ได้เยอะ” นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

1.2 ใช้นโยบายเสริมคือ Thai Herb First ใน รพ.สต.ทุกแห่ง กล่าวคือให้ใช้สมุนไพรใน 3 กลุ่มอาการโรค กลุ่มแรกคือกลุ่มอาการปวดเมื่อยทั้งหลายให้ใช้ยาสมุนไพรก่อน ทำให้ลดการใช้ NSAID ลงได้มาก ต่อมาคืออาการเกี่ยวกับภูมิแพ้ ไข้หวัด เป็นไข้ ก็ใช้ฟ้าทะลายโจรกับจันทน์ลีลาแทนการใช้พาราเซตามอล และถ้าท้องอืดท้องเฟ้อก็ใช้ขมิ้นชัน

นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า จากนโยบายการเอาสมุนไพรเข้ามาเสริม ทำให้ลดการใช้ยาปฏิชีวนะใน รพ.สต.ได้ดีมากเกือบ 100% และเกิดการเรียนรู้ว่าการรณรงค์หรือเชิญชวนให้ลดการใช้ยาปฏิชีวนะยังไม่เพียงพอ ต้องมีอะไรเข้าไปทดแทนเพื่อเป็นทางออกให้ผู้ปฏิบัติงานด้วย ซึ่งก่อนหน้าปี 2560 ทางเขต 11 มีการนำร่องใช้สมุนไพรทดแทนยาปฏิชีวนะในบางพื้นที่และเมื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าพอใช้สมุนไพรแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ก็ทำให้สื่อสารง่ายขึ้นมาก ปี 2560 จึงขยายสเกลทำทั้งเขต รวมทั้งเอาตัวอย่างนี้มาใช้ในโรงพยาบาลชุมชนด้วย ส่วนในกลุ่มโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปมีคณะกรรมการทางวิชาชีพที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ทางเขตเพียงเข้าไปนำเสนอเรื่อง First line drugs โดยวัตถุประสงค์อาจไม่ใช่การตอบสนอง RDU ทั้งหมด แต่ไปช่วยเรื่องลดการใช้ยาแผนปัจจุบันลง

สำหรับมาตรการที่ 2 คือการพิมพ์ QR Code บนซองยาทั้งหมด เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถรู้ถึงรายละเอียดยาแต่ละตัว เพียงใช้โทรศัพท์มือถือส่อง QR code ก็จะรู้ว่ายาตัวนี้คือยาอะไร มีสรรพคุณอย่างไร ข้อควรระวังอย่างไร มีผลกระทบอย่างไร ใช้ร่วมกับยาตัวไหนได้/ไม่ได้

มาตรการที่ 3 คือการอบรมแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกรที่จบใหม่ที่มาทำงานมาใช้ทุนอย่างเข้มข้นเรื่องการใช้ยาสมุนไพรกับยาปฏิชีวนะ เพราะคนกลุ่มนี้คือด่านหน้าที่ต้องเจอกับคนไข้ อย่างเช่นในโรงพยาบาลชุมชน สมมติมีแพทย์ 4 คน ก็จะเป็นแพทย์จบใหม่เสีย 3 คน ดังนั้นหากเข้าถึงและทำให้คนกลุ่มนี้เข้าใจเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผลก็จะช่วยได้มาก

และมาตรการที่ 4 คือการใช้วิทยุชุมชนสื่อสารให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องยาปฏิชีวนะและการใช้ยาอย่างสมเหตุผล

“เราทำหลายอย่างพร้อมกันปรากฏว่าผลงานดีมาก ถึงแม้ยาสมุนไพรจะแพงกว่ายาแผนปัจจุบันประมาณ 10-20% เพราะมี economy of scale น้อยกว่า หลายคนอาจรู้สึกว่ามีต้นทุนเพิ่มขึ้นในระบบสุขภาพ แต่ถ้าเราเปรียบเทียบมูลค่ายาปฏิชีวนะที่ลดลง เมื่อหักลบกันแล้วก็ถือว่าคุ้ม ในเขตเราสามารถลดมูลค่าการใช้ยาปฏิชีวนะใน รพ.สต.ลงได้ 2 ล้านกว่าบาท ส่วนโรงพยาบาลชุมชนลดการใช้ยาปฏิชีวนะลงได้ 9 ล้านบาท และที่ชัดเจนคือยา NED เราประหยัดได้ 17 ล้านบาท รวมๆ แล้วก็ทำให้เห็นภาพว่าเราลดการใช้ยาปฏิชีวนะลงได้ประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งก็น่าจะคุ้มเมื่อเทียบกับมูลค่าสมุนไพรที่แพงกว่ากันไม่มาก อีกทั้งยังช่วยในส่วนของเกษตรกรที่ปลูกและผลิตสมุนไพรให้มีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย” นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

สำหรับแนวทางดำเนินการในปี 2561 นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า 1.จะดำเนินการต่อไปเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมให้ทุกจังหวัดจัดทำบัญชียาสมุนไพรที่ทดแทนยาแผนปัจจุบันได้ประมาณ 30 รายการให้พื้นที่ได้เลือกใช้ และ 2.การจัดสรรงบประมาณจะมีการกันเงินกองกลางไว้จำนวนหนึ่งเพื่อชดเชยให้โรงพยาบาลที่หันมาใช้สมุนไพร รวมทั้งลดสัดส่วนการสนับสนุนงบประมาณ กล่าวคือปกติโรงพยาบาลชุมชนต้องสนับสนุนงบยาไปที่ รพ.สต. ทางเขตจึงกำหนดว่าต้องเป็นสมุนไพรไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ซึ่งทางโรงพยาบาลชุมชนตลอดจน รพ.สต.ก็ตอบรับกับเรื่องนี้ค่อนข้างดี เชื่อว่าจะยิ่งสร้างมาตรการในการใช้สมุนไพรมากขึ้นไปอีกและปี 2561 จะมีผลลัพธ์ที่ต่างออกไปจากเดิมได้อีกมาก