ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอเจตน์" ปธ.กรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภาหารือร่วม "รมช.สธ." ปมถ่ายโอนรพ.สต. ไป อบจ. เสนอทำแซนด์บ็อกซ์ ประเมินผล 2-3 ปี หากดีไปได้หมด พร้อมเสนอหน่วยงานอิสระสอบถามประชาชนพื้นที่ เหตุกระจายอำนาจเป็นนโยบายสาธารณะ

เมื่อเร็วๆนี้  คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข(กมธ.)วุฒิสภา  มีการประชุมวาระพิจารณาแนวทางนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) โดยได้เชิญนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เข้าร่วมหารือประเด็นดังกล่าว

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 26 ก.พ.2565 นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข(กมธ.สธ.)  วุฒิสภา  ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงกรณีดังกล่าว ว่า  ในการประชุมได้เชิญนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการสธ. เพื่อหารือประเด็นดังกล่าว แต่รองนายกฯ ติดภารกิจ จึงมอบรมช.สธ.เข้าร่วมหารือ        โดยทางกมธ.สธ.ยืนยันว่า ไม่ได้ขัดขวางการถ่ายโอน แต่ต้องมีความพร้อมในด้านต่างๆ จึงได้เสนอให้ถ่ายโอนแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างการทำเป็นเฟส หรือแซนด์บ็อกซ์ (SandBox)   จากนั้นทำการประเมินระยะเวลา 2-3 ปีก็มาประเมินว่า ผลลัพธ์เป็นอย่างไร เนื่องจากหากใช้เวลา 1 ปีอาจเร็วไป และหากดีก็สามารถถ่ายโอนไปได้หมด

นพ.เจตน์ กล่าวว่า  ทางกรรมาธิการฯ ได้เสนอท่านรมช.สธ. ว่า เราไม่ได้ขัดขวางการถ่ายโอน แต่ขอให้มีความพร้อมด้านต่างๆ อย่างระบบการจัดสรรงบประมาณ ต้องเตรียมระบบให้พร้อม ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้ดูแลงบฯส่วนนี้ โดยจัดสรรมาที่จังหวัดไปยังโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) ที่เรียกว่า CUP เป็นการบริหารจัดการเครือข่าย ซึ่งมีโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) บริหารจัดการและส่งมาให้ รพ.สต.  ที่ผ่านมางบที่ได้ถือว่าน้อยมาก 

ด้วยเหตุนี้ ทางรพ.สต. จึงมองหาทางออก และเห็นว่า การถ่ายโอนไปท้องถิ่นจะเป็นโอกาสเติบโต แต่ความเป็นจริงเรื่องงบประมาณต้องให้ชัดเจน อย่างตอนนี้ตั้งงบประมาณปี 2566 ไม่ทัน ปีแรกจึงต้องตั้งงบที่กระทรวงสาธารณสุข มีสปสช.บริหารจัดการเป็นหลัก แต่หลังจากนั้นเมื่อถ่ายโอนไปแล้ว งบก็ต้องไปที่ท้องถิ่น การจัดสรรงบ การบริหารจะเป็นอย่างไร ต้องจัดระบบให้พร้อม

"น่าเห็นใจบุคลากรในรพ.สต. น้องๆ เขาทำงานหนักมาก เขาเสียสละ เงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อยก็ต่ำอยู่แล้ว งานเยอะ ความก้าวหน้าไม่มี เขาก็อยากไปลองของใหม่ เราไม่ได้ขัดขวาง  แต่อยากให้ไปในที่พร้อมจริงๆ และอยากให้มีการสื่อสารที่รอบด้าน เพื่อให้น้องๆ บุคลากรได้รับข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมด เมื่อได้รับแล้ว การตัดสินใจก็จะเป็นของเขาเอง "  นพ.เจตน์ กล่าว

นพ.เจตน์ กล่าวอีกว่า  สิ่งสำคัญระหว่างนี้ เสนอให้ทางกระทรวงสาธารณสุข รวบรวมรายชื่อบุคลากร และรพ.สต.ที่ประสงค์จะถ่ายโอน เพื่อยืนยันสุดท้าย เนื่องจากตัวเลขกว่า 2 หมื่นคนที่จะถ่ายโอนเป็นตัวเลขแรกๆ ที่รวบรวมโดย อบจ. แต่ไม่ใช่ตัวเลขสุดท้าย จำเป็นต้องมีลายเซ็นของบุคลากรที่ประสงค์จะไป เพื่อยืนยันเป็นครั้งสุดท้าย และนำเข้า อ.ก.พ.สธ. จึงจะเป็นไฟนอล จากนั้นก็ต้องวางระบบว่า คนไม่ไปจะต้องดำเนินการอย่างไร คนที่ไปแต่ไปไม่ครบ จะมีระบบจัดบริการอย่างไร  ทางท้องถิ่นต้องเตรียมเสริมอะไรอย่างไร  ซึ่งจุดนี้ก็ต้องมาดูงบประมาณของอบจ.ด้วย 

 "ประเด็นถ่ายโอนมีหลายเรื่องมาก สิ่งสำคัญนอกจากต้องสื่อสารให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ได้ข้อมูลอย่างสมบูรณ์แล้ว อีกเรื่อง คือ มีการสอบถามประชาชนในพื้นที่หรือไม่ ไม่ใช่ถามเพื่อกีดกันทางถ่ายโอน แต่เราต้องให้ประชาชนเลือกอนาคต ว่า อยากอยู่กับใคร เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับประชาชน ส่วนใครจะทำหน้าที่สอบถามก็ต้องหาหน่วยงานอิสระ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย อาจมาจากมหาวิทยาลัย หน่วยงานในการประเมินนโยบายสาธารณะ" นพ.เจตน์ กล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : รมช.สาธารณสุข รับข้อห่วงใย กมธ.วุฒิสภา ปมถ่ายโอน รพ.สต.ไป อบจ.)

เมื่อถามว่าจากนี้กมธ.สธ.จะดำเนินการอย่างไร นพ.เจตน์ กล่าวว่า หลังจากหารือกับทางรมช.สธ.ไปแล้วนั้น จะมีการติดตามเรื่องนี้ต่อเนื่อง เพราะเรื่องนี้มีผลต่อระบบสาธารณสุข ยิ่งตอนนี้มีโควิดระบาด และไม่รู้ว่าจะมีโควิดใหม่ หรือโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นมาอีกหรือไม่ จึงจำเป็นต้องเตรียมระบบให้พร้อม และต้องมีการประเมินหลังโควิดอีกด้วยว่า ระบบสาธารณสุขที่สู้กับโควิดมีอะไรต้องปรับปรุงแก้ไข การถ่ายโอนจะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างไร ต้องวิเคราะห์ภาพรวมทั้งหมด รวมทั้งเรื่องงบประมาณของ อบจ. จะเป็นอย่างไร 

แหล่งข่าวในแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า การถ่ายโอนรพ.สต.ให้ไปอยู่กับท้องถิ่นในช่วงเวลานี้อาจจะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม และถ้าถ่ายโอนไปแล้วก็ค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะระบบการบริหารจัดการควบคุมป้องกันโรค เพราะจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด -19 ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า การที่สถานพยาบาลไม่ได้อยู่ในหน่วยงานเดียวกัน การประสานงานการทำงานต่างๆ จะค่อนข้างลำบากมาก 

ข่าวเกี่ยวข้อง

-  "ถ่ายโอน รพ.สต.ไปท้องถิ่น" การกระจายอำนาจที่โยงใยระบบสาธารณสุข คน การส่งต่อ การรักษาพยาบาล

"หมอเจตน์" ห่วงถ่ายโอนรพ.สต.ไปอบจ.กรณีเงื่อน 40% จ้างบุคลากรของท้องถิ่น

-"หมอเจตน์" ส่งหนังสือถึงนายกฯ ขอยับยั้งถ่ายโอน รพ.สต.

-ชมรม รพ.สต.-สมาคม อบจ. ขอเร่งรัดถ่ายโอนสาธารณสุขไปท้องถิ่น (ชมคลิป)

-อัปเดต! “เครือข่ายสาธารณสุขไทยฯ” ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอชะลอการถ่ายโอนรพ.สต. ไป อบจ.

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org