ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวง แรงงาน(รง.)ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม(สปส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดสปส.ได้พิจารณาโครงการสินเชื่อเพื่อไปทำงานต่างประเทศโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือแจ้งกลับมายังสปส.แล้วว่า ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 40 สามารถกู้เงินกองทุนสปส.ในโครงการนี้ได้ ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบอนุมัติให้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อไปทำงานต่างประเทศโดยสปส.กำหนดกรอบวงเงินไว้ทั้งหมด 5,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีผู้กู้ทั้งสิ้นประมาณ 10,000 คน อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจะมีการนำร่องโครงการก่อน โดยใช้วงเงิน 500 ล้านบาท ซึ่งธนาคารกรุงไทยจะเป็นผู้ปล่อยกู้ คิดดอกเบี้ยร้อยละ 6 อัตราคงที่ 2 ปี

สำหรับเงื่อนไขการกู้เงินโครงการนี้ผู้กู้ต้องเป็นหรือเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ มาตรา 40 โดยกรณีมาตรา 40 นั้นต้องส่งเงินสมทบติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน นอกจากนี้ ผู้ยื่นกู้ต้องหลักฐานประกอบด้วยหนังสือรับรองจากสปส.ว่า เป็นผู้ประกันตนหรือเคยเป็นผู้ประกันมาตรา 33 หรือ มาตรา 40 และมีหนังสือรับรองจากกรมการจัดหางาน(กกจ.)ว่าทำงานต่างประเทศและมีนายจ้างจริง ซึ่งสามารถยื่นกู้ได้รายละ 150,000 บาทโดยไม่ต้องใช้บุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่จะต้องทำสัญญากับธนาคารกรุงไทยยินยอมให้หักเงินเดือนเพื่อผ่อนชำระหนี้สปส.ผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทยสาขาต่างประเทศ

"สปส.จะลงนามความร่วมมือ(เอ็มโอยู)กับธนาคารกรุงไทยซึ่งจะเป็นผู้บริหารจัดการเงินกู้ของโครงการในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากนั้นคาดว่าเดือนสิงหาคมจะเริ่มปล่อยกู้ได้ เมื่อสปส.ทำเอ็มโอยูกับธนาคารกรุงไทยแล้ว สปส.จะนำเงินกองทุนประกันสังคมก้อนแรก 10 ล้านบาทไปฝากไว้กับธนาคารกรุงไทยโดยเงินฝากของสปส.นั้นธนาคารให้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 คงที่ 2 ปี และแรงงานไทยซึ่งเป็นผู้ประกันตนสามารถไปยื่นกู้ได้ที่ธนาคารกรุงไทยสาขาต่างจังหวัด" ประธานบอร์ดสปส. กล่าว

นพ.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า บอร์ดยังได้มีมติเห็นชอบให้สปส.ปรับระบบการจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (ดีอาร์จี)เช่น โรคมะเร็ง โรคไต โรคปอดโดยจ่ายค่ารักษาตามระดับความรุนแรงของโรค(RW) หากมีค่า RW   ตั้งแต่ระดับเกินกว่า 2 ขึ้นไปให้จ่ายอยู่ที่ระดับละ 15,000 บาทจากปัจจุบันในกรณีโรงพยาบาลระบบประกันสังคมซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนมีบัตรรับรองสิทธิส่งต่อผู้ป่วยไปยัง โรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงซึ่งเป็นคู่สัญญา ทางโรงพยาบาลคู่สัญญาจะมายื่นเรื่องเบิกเงินจากสปส.โดยตรง  ก็เปลี่ยนเป็นให้โรงพยาบาลคู่สัญญามาเบิกเงินค่ารักษาจากโรงพยาบาลระบบประกันสังคมซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนมีบัตรรับรองสิทธิ หลังจากนั้นให้โรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนมีบัตรรับรองสิทธิมายื่นเรื่องเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลจากสปส.โดยกรณีระดับความรุนแรงเกินกว่า 2   ขึ้นไปให้จ่ายอยู่ที่ระดับละ 15,000 บาท "หากวงเงินค่ารักษาทั้งหมดเกินกว่าเกณฑ์ที่สปส.กำหนดไว้  โรงพยาบาลที่ ผู้ประกันตนมีบัตรรับรองสิทธิจะต้องเป็น ผู้จ่ายเงินส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นเอง  ทั้งนี้  ถ้า โรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนมีบัตรรับรองสิทธิไม่สามารถแบกรับค่ารักษาที่เพิ่มขึ้นได้  ก็ให้แจ้งต่อสปส.เพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันโดยให้เริ่มมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556"

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 กรกฎาคม 2556