ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘ 5 ข่าวสาธารณสุข’ ปี 2566  ติดอันดับได้รับความสนใจผ่านช่องทางสื่อ Hfocus ทั้ง “หมอชลน่าน” อีกความหวังบุคลากรเมื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล  ประเด็นค่าเสี่ยงภัยโควิด บรรจุข้าราชการ อัตรากำลัง ภาระงาน รวมถึง “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” ปฏิรูประบบสุขภาพอย่างไร และถ่ายโอนภารกิจรพ.สต.ฯลฯ

 

สำนักข่าวออนไลน์ Hfocus ขอส่งท้ายปีเก่า 2566 ด้วยการสรุปนโยบายสาธารณสุข ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่สมัย นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรมว.สาธารณสุข จนกระทั่งรัฐบาลเพื่อไทยเข้ามา และมีชื่อ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” นั่งคุมบังเหียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จนถูกจับตามองเป็นพิเศษว่า จะมีการขับเคลื่อนอย่างไร ยิ่งพรรคเพื่อไทย ในสมัย “ทักษิณ ชินวัตร”  พรรคไทยรักไทย ผลักดัน 30 บาทรักษาทุกโรค จนเป็นนโยบายขึ้นหิ้งทอง จึงไม่แปลกที่พรรคเพื่อไทยจะถูกตั้งความหวังถึงนโยบายสาธารณสุขอะไรโดนใจจริงๆ   ทั้งสิทธิประโยชน์การรักษาของประชาชน ปัญหาภาระงานบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ค่าตอบแทน ค่าเสี่ยงภัยโควิด การบรรจุข้าราชการฯ ถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ฯลฯ

Hfocus ขอสรุป 5 อันดับข่าวสาธารณสุขที่ถูกจับตามอง และมียอดการเข้าชมมากที่สุดในเว็บไซต์และเพจ Hfocus ตลอดปี 2566  ดังนี้

1.“หมอชลน่าน” คุม สธ.ปรับโฉม “30 บาทรักษาทุกโรค” สู่บอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ

นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทย จัดตั้งรัฐบาล มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หนึ่งในแกนนำพรรคนั่งแท่นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แทน นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่โยกไปคุมกระทรวงมหาดไทย กลายเป็นที่จับตามองว่า ระบบสาธารณสุขจะมีอะไรที่เปลี่ยนไปจากเดิม แน่นอนว่า ทุกคนมุ่งไปที่ “30 บาทรักษาทุกโรค” ที่กลายเป็นนโยบายขึ้นหิ้งทอง ดาวค้างฟ้าของพรรคเพื่อไทย หรือพรรคไทยรักไทยขณะนั้น เพราะต้องยอมรับว่า 30 บาทรักษาทุกโรค หรือเรียกง่ายๆ สิทธิบัตรทอง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึงการรักษา ลดภาวะล้มละลาย แม้ในอดีตเคยมีข่าวกรณีโรงพยาบาลในสังกัดสธ. ออกมาร้องถึงปัญหาขาดสภาพคล่อง ภาระงานอันหนักอึ้ง! จากการเข้ารับบริการมากก็ตาม

มาถึงวันนี้ ไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดว่าการเข้าถึงบริการประชาชนมากจะส่งผลต่อภาระงานบุคลากรอีก แต่ต้องหาทางออกที่เหมาะสมและวิน วิน ทั้งหมด ที่ผ่านมาจึงมีการพัฒนางานสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อให้เกิดการรักษาใกล้บ้านใกล้ใจ คนเจ็บป่วยน้อยๆ ไม่ต้องไปถึงรพ.ขนาดใหญ่ จนเป็นภาพการรอคิว ความแออัดต่างๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ปัญหาก็ยังเกิดขึ้นไม่จบ ยิ่งล่าสุด “หมอชลน่าน” ประกาศคุมสธ.ด้วยนโยบายหลักคือ ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค หรืออัปเกรด 30 บาทเพื่อสิทธิคนไทยทุกคน เห็นชัดสุดตอนนี้คือ การใช้ดิจิทัลสุขภาพ สู่การให้บริการที่เรียกว่า “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกโรค” เข้าได้ทุกที่ทุกเครือข่าย เริ่มต้น 4 จังหวัด มีแพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส  ก่อนขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ

ประเด็นคือ การยกระดับตรงนี้จะตอบโจทย์ประชาชน และบุคลากรอย่างไร แน่นอนว่า “หมอชลน่าน” ประกาศนโยบายนี้เริ่ม 7 มกราคม 2567 โดยจะส่งผลดีต่อประชาชน ไม่ต้องมีใบส่งตัว ลดปัญหาแออัด เพราะสามารถรักษารพ.ใกล้บ้านได้ หรือหากย้ายถิ่นฐานไปทำงานที่พื้นที่ไหน ก็สามารถเข้ารับบริการ รพ.ใกล้ๆ ได้เช่นกัน ที่สำคัญไม่มีใบส่งตัว และหากเจ็บป่วยไม่มากยังรักษาตามคลินิกเอกชน และร้านยาที่ร่วมโครงการ เป็นการใช้ระบบดิจิทัลสุขภาพ หรือการใช้ระบบไอทีมาให้บริการสะดวกขึ้น ที่สำคัญยังเป็นการปรับระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ให้มากยิ่งขึ้น

ส่วนที่จะทำได้มากน้อยแค่ไหนกับการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีการประชุมหารือขับเคลื่อนร่วมกัน โดยมีคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และล่าสุดตั้ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ เพื่อติดตามกำกับการทำงานแบบบูรณาการกันทุกกระทรวง  ส่วนข้อดีของบุคลากรคนทำงาน คือ เมื่อมีข้อมูลดิจิทัลสุขภาพเข้ามา จัดทำเป็นข้อมูลระดับใหญ่หรือ Big DATA หากมีการจัดระบบอย่างดี การใช้เทคโนโลยีบางอย่างก็จะช่วยแบ่งเบาภาระงานบุคลากรได้ไม่มากก็น้อย ที่สำคัญหากข้อมูลถึงกันก็จะลดปัญหาช็อปปิ้งยาได้อีกด้วย

จากนโยบายดังกล่าว จึงเป็นประเด็นที่ถูกจับจ้องกันมากว่า อัปเกรด 30 บาทรักษาทุกโรคครั้งนี้จะปฏิรูประบบสุขภาพได้มากน้อยแค่ไหน บอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพฯ จะมีส่วนช่วยในการบูรณาการอย่างไร หากทำได้ทั้งหมดย่อมส่งผลดีต่อประชาชนแน่นอน

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ร้อยเอ็ดพร้อม 100% 'บัตรปชช.ใบเดียว' รักษาทุกที่ทุกสังกัด คิกออฟอีก 3 จังหวัด 7 ม.ค.นี้)

2.บุคลากรสาธารณสุขปฏิบัติงานโควิด-19 กับความหวัง “ค่าเสี่ยงภัย-บรรจุข้าราชการรอบสอง”

เป็นอีกความหวังของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เมื่อ “หมอชลน่าน” เข้ามานั่งในตำแหน่งรมว.สาธารณสุข เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพราะประเด็นของคนทำงานช่วงโควิด นอกจากเหน็ดเหนื่อยและมีความเสี่ยงแล้ว เรื่องของ “ค่าเสี่ยงภัยโควิด-การบรรจุข้าราชการที่ปฏิบัติงานช่วงโควิดรอบสอง” ยังเป็นเรื่องที่ถูกพูดกันไม่เว้นแต่ละวัน แม้ล่าสุดเงินค่าเสี่ยงภัยโควิด จากงบกลางวงเงิน 2,995.95 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 - ครึ่งเดือนแรกของเดือนมิถุนายน 2565 จะมีการจ่ายไปแล้ว

โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ.บอกว่า การจ่ายค่าเสี่ยงภัยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการจ่ายหมดแล้ว ยังเหลือนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กำลังประสานผู้ที่เกี่ยวข้องให้เร่งส่งเอกสารมา คาดว่าจะปิดได้ทั้งหมดภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า  ส่วนค่าเสี่ยงภัยที่ยังค้างอีกก้อน ประมาณครึ่งหลังเดือนมิถุนายน และกันยายน 2565 ทั้งหมดอยู่ในกระบวนการ

นพ.ชลน่าน ย้ำว่า เรื่องนี้ไม่มีทิ้ง แม้จะเป็นการดำเนินงานต่อจากรัฐบาลก่อน แต่เมื่อผ่านมติครม.มาแล้วก็ต้องดำเนินการ ส่วนที่ยังติดขัดตรงไหน ได้มอบให้ทางปลัดกระทรวงฯ เร่งดำเนินการ จึงเป็นอีกข่าวสาธารณสุขที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ส่วนเรื่องการบรรจุข้าราชการปฏิบัติงานโควิด ได้มอบทางปลัดสธ.ดำเนินการตามกรอบอัตรากำลัง และตามเกณฑ์ที่ ก.พ.กำหนด ซึ่งประเด็นนี้จึงนำไปสู่ข่าวที่ นพ.ชลน่าน เตรียมขับเคลื่อนออกจาก ก.พ.

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “ชลน่าน” ชูผลสำเร็จสร้างขวัญกำลังใจ “หมอ-พยาบาล” เร่งติดตามค่าเสี่ยงภัยโควิดขีดเส้น 1-2 เดือน)

3.ปัญหาขาดแคลนอัตรากำลัง กระทบภาระงาน “หมอลาออก” สู่แนวโน้มแยกตัวออกจากสำนักงาน ก.พ.

เห็นได้ชัดว่า ช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ จะมีกลุ่มบุคลากร ชมรม สมาคมต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ และหลากหลายวิชาชีพ รวมถึงนักวิชาการสาธารณสุข อสม. ที่ขับเคลื่อนงานปฐมภูมิ  ต่างเข้ามาแสดงความยินดี พร้อมทั้งยื่นหนังสือขอให้ติดตาม แก้ปัญหาอัตรากำลัง ภาระงาน ค่าตอบแทน สิทธิสวัสดิการต่างๆ  โดยเฉพาะปมภาระงานแพทย์อินเทิร์น ที่ต้องทำงานเกิน 48-80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  ต่างร้องขอการกำหนดชั่วโมงการทำงาน ค่าตอบแทน อัตรากำลังต่างๆ

ปมปัญหาอัตรากำลัง “หมอชลน่าน” ประกาศนโยบายตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งแรกๆ ว่า จะหารือร่วมกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เพื่อที่จะขอแยกตัวออกจาก ก.พ.  โดยได้ตั้งคณะกรรมการบริหารบุคลากรพิจารณาเรื่องกรอบอัตรากำลัง เพื่อจะออกเป็นกฎหมายเฉพาะภายในปี 2568  ประเด็นนี้จึงถูกจับตามองว่า จะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็ต้องมาติดตามความคืบหน้าว่า ในปี 2567 ทิศทางเป็นอย่างไร

ส่วนประเด็นบุคลากรอื่นๆ ยังมีทั้งการจ้างงานรูปแบบต่างๆ อัตราเงินเดือนค่าตอบแทนจะเพิ่มขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน ต้องอิงกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ ในปี 2567 เป็นอีกปีที่ นพ.ชลน่าน ต้องเร่งเดินเครื่องเรื่องนี้ เพราะทั้งหมดอยู่ในนโยบายสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร

แม้ที่ผ่านมา รมว.สาธารณสุขจะประกาศความสำเร็จเบื้องต้นไปแล้ว ทั้งเรื่องความก้าวหน้าพยาบาล การเลื่อนระดับซี7 ไปซี 8 หรือการให้สิทธิแพทย์ประจำบ้าน 13 สาขาลาเรียนแบบไม่ขาดราชการ รวมไปถึงการสร้างทีม CareD+ ที่ช่วยการสื่อสารลดภาวะความไม่เข้าใจ ความเครียดระหว่างบุคลากร ญาติ และคนไข้ แต่ดูเหมือนประเด็นค่าตอบแทน การจ้างงาน สิทธิสวัสดิการต่างๆ โดยเฉพาะอัตราเงินเดือนลูกจ้าง จะเป็นอีกประเด็นที่ได้รับความสนใจอันดับต้นๆเช่นกัน

4. ถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.สู่ท้องถิ่น กับการบริการสุขภาพปฐมภูมิ

เป็นข่าวที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในระดับสุขภาพปฐมภูมิ ยิ่งในพื้นที่จังหวัดต่างๆที่มีการถ่ายโอน เพราะช่วงปี 2566 ที่ผ่านมากลายเป็นเรื่องการสื่อสาร ความไม่เข้าใจกันมาก รวมไปถึงความไม่พร้อมของบางพื้นที่ ขณะที่บางพื้นที่มีความพร้อม พัฒนาไปแล้ว ประเด็นดังกล่าวถูกได้รับความสนใจว่า เมื่อ “หมอชลน่าน” มาคุมเรื่องนี้จะทำให้การถ่ายโอนภารกิจเป็นไปด้วยความราบรื่นอย่างไร เพราะส่วนหนึ่งกังวลว่า การถ่ายโอนที่ไม่พร้อมจะกระทบต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้ตั้งแต่เริ่มแรก การส่งเสริมสุขภาพ การดูแลรักษา ฟื้นฟู ฯลฯ รวมไปถึงยิ่งมีการบริการ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” ข้ามเครือข่าย จะเตรียมพร้อมในส่วนของรพ.สต.ที่ถ่ายโอนอย่างไร

งานนี้หลายส่วนล้วนให้สัมภาษณ์ว่า มีการเตรียมความพร้อม 100% โดยเฉพาะใน 4 จังหวัดนำร่อง(แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี นราธิวาส) เพราะล่าสุดสปสช.ผู้คุมเงิน จัดสรรเงินลงหน่วยบริการได้มีการหารือร่วมกันกับทุกฝ่ายเกี่ยวกับระบบเบิกจ่าย โดยย้ำว่าต้องไม่กระทบการบริการ และทำเรื่องเข้ามาจะส่งเงินให้หน่วยงานที่ดูแลประชาชนทันที พูดง่ายๆ เงินไปถึงหน่วยบริการไม่ว่าสังกัดไหนก็ตาม

แต่ประเด็นการถ่ายโอน รพ.สต.ก็ต้องติดตามต่อเนื่องว่า หลังจากย้ายไปแล้วการพัฒนาเป็นอย่างไร และที่ไม่ย้ายมีการพัฒนามากน้อยแค่ไหน เพราะอย่าลืมว่าในปีงบประมาณต่อๆไป ก็อาจเป็นเครื่องตัดสินให้รพ.สต. ให้บุคลากรพิจารณาว่าจะถ่ายโอน หรืออยู่ต่อดี...

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สรุปเส้นทางการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปสู่ อบจ.)

5.จากกัญชาทางการแพทย์ สู่ยาเสพติด “ยาบ้า 5 เม็ด”

เป็นเรื่องที่ไม่เพียงแต่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขสนใจ แต่รวมถึงประชาชนทั่วไป เพราะตั้งแต่นโยบายกัญชาทางการแพทย์ ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็เกิดคำถามมากมายว่า ใช้รักษาทางการแพทย์ได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากมีแพทย์บางส่วนก็อาจจะยังไม่เห็นด้วยมากนัก ขณะที่แพทย์แผนไทยมองเป็นทางเลือกน่าสนใจ จึงนำมาสู่ยุค “หมอชลน่าน” ตั้งแต่เริ่มรับตำแหน่ง หลายคนสงสัยว่า จะขับเคลื่อนนโยบายนี้อย่างไร จะสนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจสุขภาพด้วยหรือไม่ ยิ่งผู้ประกอบการต่างๆ ยิ่งจับตามอง

ทิศทางคือ จะต้องมีการพิจารณาและขับเคลื่อนปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ....ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทมากที่สุด

แต่ที่เป็นข่าวฮือฮามากที่สุด คือ การกำหนดจำนวนถือครองยาบ้า เพื่อให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วย เข้าสู่กระบวนการบำบัดและฟื้นฟู ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้มีความเข้มแข็ง ที่จะให้โอกาสผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วย เพื่อกลับมาใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข  โดยการถือครองยาบ้า 5 เม็ดในลักษณะ “ผู้เสพเป็นผู้ป่วย” ไม่ต้องติดคุก ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขไม่มีพฤติกรรมการค้า และ 1.ต้องสมัครใจรักษา 2.เข้าสู่กระบวนการรักษาจนครบ และ3.ได้รับการรับรองการรักษาจากหน่วยบริการ

ขณะที่หน่วยบริการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด มีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ ขยายการบริการในรูปแบบ “มินิธัญญารักษ์” 1 จังหวัด 1 แห่ง เพื่อรองรับการดูแลรักษา ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบาย Quick Win 100 วัน ของรัฐบาลในการแก้ปัญหายาเสพติด โดยการบำบัดรักษาเป็นอีกแนวทางปฏิบัติหนึ่งเช่นกัน จึงต้องมาติดตามว่า ประเด็นนี้ในปี 2567 จะมีความคืบหน้าอย่างไร เพราะปี 2566 ถูกพูดถึงเป็นอันดับต้นๆอีกเช่นกัน

ประเด็นอื่นๆ ส่งเสริมการมีลูกวาระชาติ -กองทุนมะเร็ง ฯลฯ

นอกจาก 5 ประเด็นดังกล่าว ยังมีประเด็นข่าวสาธารณสุขอื่นๆ ที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นการติดตาม 13 นโยบายสาธารณสุข และ 10 นโยบายควิกวินของนพ.ชลน่าน ทั้งเรื่อง “การส่งเสริมการมีบุตร” ดันเป็นวาระแห่งชาติ ต้องติดตามในปี 2567 ว่าจะมีมาตรการอย่างไร “มะเร็งครบวงจร” นอกจากการฉีดวัคซีน HPV แล้ว ยังมีประเด็นที่น่าสนใจเรื่อง กองทุนมะเร็ง ลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน และยังมีการขยายบริการ “รพ. กทม.50 เขต 50 รพ.” ฯลฯ

ปี 2567 น่าจะเป็นอีกปีที่ข่าวสาธารณสุขติดอันดับน่าสนใจแน่นอน..