ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชาชาติธุรกิจ - ปัจจุบันข้อมูลตัวเลขแรงงานข้ามชาติของ 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า, ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยการบันทึกของสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน มีประมาณ 977,195 คน

ขณะที่ตัวเลขของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณการว่ามีจำนวนแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาตินี้ ทั้งที่ผ่านการจดทะเบียนและไม่จดทะเบียนมีไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ แรงงานข้ามชาติที่ผ่านการ จดทะเบียนจะต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม แต่ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียนประกันสังคมแล้วเพียง 342,236 คน ถือว่าเป็นสัดส่วนตัวเลขที่น้อยมาก

ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม (คปก.) คณะทำงานติดตามประกันสังคมที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายประชากรข้ามชาติ (MWG) และเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) จึงเห็นความจำเป็นในการรณรงค์ปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายด้านสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายประกันสังคม เกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในอนาคตให้มีประสิทธิภาพ

และเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี 2558 จึงได้จัดงานสัมมนาทางวิชาการในทางปฏิบัติแบบมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนขึ้น

 "บัณฑิต แป้นวิเศษ" คณะกรรมการปฏิบัติการเครือข่ายเพื่อแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า สาเหตุที่แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบประกันสังคมน้อย เนื่องจากระบบประกันสังคมถูกออกแบบมาใช้สำหรับพลเมืองไทย ที่ต้องได้รับการคุ้มครองในระหว่างการทำงานจนถึงวัยชรา หรือหลังเกษียณอายุในการทำงาน แต่กลุ่มแรงงานข้ามชาติอยู่อาศัยทำงานในประเทศไทยเพียง 4 ปี แล้วต้องเดินทางกลับประเทศตัวเอง

"ตามเงื่อนไขนโยบายรัฐเรื่องการพิสูจน์สัญชาติ และกฎหมายแรงงานต่างด้าว ปี 2551 ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงการใช้สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม ตามมาตรา 33 ของกฎหมายประกันสังคม เช่น สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล, ลาคลอด, เงินสงเคราะห์บุตร, ชดเชยการขาดรายได้, การประกันการว่างงาน, และบำนาญชราภาพ"

ด้าน "ชาลี ลอยสูง" ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมายทุกคนควรได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน

"การเข้ามาเป็นผู้ประกันตนน่าจะมีสิทธิตั้งแต่วันแรกที่จ่ายเงินไป ผมมีการเสนอให้มีการปรับระยะเวลาในการใช้สิทธิประโยชน์ให้เริ่มต้นหลังจากเข้าเป็นผู้ประกันตนได้เลย เหมือนบริษัทเอกชนที่ทำประกันชีวิตแล้วได้รับความคุ้มครองตั้งแต่วันแรก แต่ปัจจุบันเงินประกันสังคมแรงงานข้ามชาติจะได้รับสิทธิครอบคลุมจะต้องใช้เวลา 1-3 เดือนหลังจากที่ได้จ่ายเงินไปแล้ว"

"ทั้งนี้ ในปี 2558 เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) จะทำให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาอยู่ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากแรงงานในประเทศอาเซียนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี ดังนั้น ประเทศไทยควรมีมาตรการในการรองรับแรงงานเหล่านี้ให้มาก โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยแบบเหมาช่วง หรือเอาต์ซอร์ซ ซึ่งประกันสังคมยังไม่ได้เข้าไปดูแลแรงงานในส่วนนี้"

"เรื่องสิทธิและเสรีภาพควรเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติ โดยรัฐจะต้องพิจารณารับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ที่อนุญาตให้แรงงานมีสิทธิรวมตัวกัน เพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงาน หากถูก นายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ไม่ใช่ต้องทนยอมรับสภาพเหมือนในปัจจุบัน"

ส่วน "บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ"ตัวแทนจากมูลนิธิอารมณ์พงศ์พงัน กล่าวว่า ปัญหาของแรงงานข้ามชาติกับการเข้าถึงสิทธิประกันสังคมยังมีการเลือกปฏิบัติ และไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้เหมือนลูกจ้างไทย เนื่องจากนายจ้างจะต้องรับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนโดยตรงแก่แรงงานข้ามชาติเฉพาะรายที่ประสบอันตราย

ทั้งนี้ ประกันสังคมได้ระบุเป็นนโยบายว่าจะดูแลแรงงานข้ามชาติเฉพาะในส่วนของแรงงานที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย และแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว เท่านั้น

"ผมเห็นว่านโยบายดังกล่าวขัดแย้งกับกฎหมายประกันสังคม ซึ่งให้การดูแลลูกจ้างทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ อันเนื่องมาจากเชื้อชาติและอื่น ๆ จึงอยากให้ประกันสังคมทบทวนนโยบายดังกล่าวอย่างจริงจัง ผลกระทบจากนโยบายที่เห็นได้ชัดคือกรณีเมื่อแรงงานข้ามชาติบาดเจ็บสาหัส แต่มักมีการร้องเรียนถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทน ซึ่งนายจ้างบางรายยังเกลี้ยกล่อมต่อรองจ่ายเงินทดแทนให้แรงงานข้ามชาติน้อย และล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนดไว้"

"นอกจากนี้ ผมเห็นว่าควรมีการปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติกรณีเจ็บป่วย โดยควรเป็นความรับผิดชอบตามสิทธิประโยชน์ของสำนักงานประกันสังคมเช่นเดิม รวมถึงกรณีค่าชดเชยระหว่างเจ็บป่วย และกรณีคลอดบุตร สำนักงานประกันสังคมควรจะเลือกทำสัญญากับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อใช้รูปแบบการบริการแบบประกันสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ ที่ครอบคลุมถึงการดูแลด้านการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ซึ่งสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมไม่ได้ครอบคลุมในส่วนนี้"

"ส่วนสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพทางเครือข่ายเห็นพ้องกับข้อเสนอของรัฐบาลที่จะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 77 ทวิ ซึ่งจะให้แรงงานข้ามชาติสามารถขอรับเงินบำเหน็จในกรณีที่สิ้นสุดสัญญาจ้าง และต้องการกลับประเทศต้นทาง ไม่ต้องรอให้อายุครบ 55 ปี"

ขณะที่ "ดร.อารักษ์ พรหมมณี" รองเลขาธิการประกันสังคม กล่าวว่า ตามหลักการของประกันสังคมจะให้ความคุ้มครองกับแรงงานในระบบ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือแรงงานนอกระบบที่เราจะต้องมาพิจารณาว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้าถึงสิทธิได้อย่างไร และได้รับการดูแลอย่างไร

"ปัจจุบันแรงงานนอกระบบกำลังจะกลายเป็นแรงงานในระบบ ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานขึ้นทะเบียนประกันสังคมแล้วเกือบ 4 แสนคน และในส่วนที่เหลือกำลังอยู่ในระหว่างการบริหารจัดการ"

"สุนี ไชยรส" รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวเสริมว่า ขณะนี้กฎหมายประกันสังคมในประเทศไทยที่บังคับใช้ทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติพันกันเหมือนงูกินหาง สิ่งสำคัญคือเราควรพูดคุยกันในเรื่องเงื่อนไขของการปรับแก้กฎหมายที่จะสามารถรองรับกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

"กฎหมายเรานั้นจะต้องทำให้ทุกคนที่เป็นแรงงานในประเทศอาเซียนได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันโดยยึดหลักของมาตรฐานสากล ขณะนี้เหลือระยะเวลาอีก 3 ปี ทุกประเทศจะเปิดประเทศอย่างเสรี เราจึงควรใช้เวลานี้ในการปรับแก้กฎหมายให้รองรับกับทุกสถานการณ์ของแรงงาน ดีกว่าต้องมานั่งแก้ใหม่หลังจากเปิดเสรีอาเซียนแล้ว เพราะจะทำให้เกิดความยุ่งยาก"

ฉะนั้น เมื่อเรารู้ถึงปัญหาแล้ว ควรจะต้องรีบแก้ไข เพื่อให้ประกันสังคม กับแรงงานข้ามชาติมีประสิทธิภาพ เพราะท้ายที่สุดแล้วไม่ใช่เพื่อใคร ? หรือเพื่ออะไร ?

แต่เพื่อสิทธิมนุษยชนบนโลกใบนี้นั่นเอง

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 - 20 ต.ค. 2556--